Thai ESGX ยอดเงินเข้า 3.14 หมื่นลบ. ต่ำเป้า! บลจ.มั่นใจไม่กระทบตลาด

“ชวินดา” นายกสมาคม บลจ. สรุปเม็ดเงิน Thai ESGX สิ้นเดือน มิ.ย. 68 มียอดโอนจาก LTF จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนใหม่ 6.7 พันล้านบาท รวม 3.14 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าคาด! ส่งผลยอด LTF คงค้างในระบบกว่า 1 แสนล้านบาท แต่มั่นใจไม่กระทบตลาด เหตุภาวะไม่เอื้อต่อการขายออก


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า มูลค่าการซื้อขายกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) ณ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2568 มียอดการซื้อขายสุทธิ 31,400 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนจากกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) รวม 24,000 ล้านบาท และเป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่รวม 6,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดเงินทั้งที่โอนมาจาก LTF และเงินลงทุนใหม่ ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่คาดหวังไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่  โดยมีปัจจัยมาจาก 1. ผ่านช่วงการจ่ายเงินโบนัสของบริษัทต่าง ๆ ไปแล้ว, 2. นักลงทุนไม่มั่นใจกับตลาดหุ้นไทย และ3. นักลงทุนไม่อยากนำเงินลงทุนมาลงทุนนานถึง 5 ปีปฏิทิน

“ยอมรับว่ายอดเม็ดเงิน Thai ESGX ในรอบดังกล่าวนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดทุนไทยได้อย่างที่ภาครัฐคาดหวัง” นางชวินดา กล่าว

อย่างไรก็ดี นางชวินดา กล่าวว่า ในจำนวนเงินที่โอนมาจำนวน 31,400 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 2568 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.500 ล้านบาท เนื่องจากระหว่างช่วงวันที่ 1-4 ก.ค. 2568 ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมา

ขณะเดียวกัน นางชวินดา ยังบอกข้อมูลด้วยว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 2568 มีเงินลงทุนจากกองทุน LTF ไหลออกจากระบบประมาณ 48,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินที่ออกจากระบบไปเลยประมาณ 16,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 24,000 ล้านบาทกลับเข้าลงทุนใน Thai ESGX

ส่วน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2568 ยอดเงินคงค้าง LTF ในระบบเหลืออยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยคาดว่านักลงทุนจะ “ทยอย” นำเงินลงทุนดังกล่าวค่อย ๆ ออกจากตลาดฯ ทำให้ไม่ได้กระทบตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการขาย LTF

ขณะที่นักลงทุนสถาบันเอง อยู่ในระหว่างการเติมเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้าตลาดฯ โดยเฉพาะช่วงตลาดหุ้นไทยยังมีความท้าทายอยู่มาก จนกว่าจะทราบผลการเจรจาเรื่องภาษีระหว่างทีมไทยแลนด์กับสหรัฐฯ ออกมาในทิศทางใด

ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (7-11 ก.ค.2568) นางชวินดา มีมุมมองว่า ยังเผชิญกับ “ความผันผวนสูง”  แต่ “ดาวน์ไซด์จำกัด” เนื่องจากมีเรื่องของงบประมาณปี 2569 ที่น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนผลการเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ทางรัฐบาลต้องต่อรองให้ได้โดยไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ หากการเจรจาไม่เป็นผลบวกจะกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยหนักซึ่งจะเห็นภาพชัดในปี 2569 เป็นต้นไป

“สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ถือว่า “(ลง) เกินความคาดหมาย” และ “โหดร้าย” กว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง โดยที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่ปีนี้ตลาดปรับตัวลดลงเกือบ 20% ถือว่าหนักพอสมควร ส่วนด้านต่างประเทศแม้มีความกังวลเรื่องนโยบายภาษีสหรัฐฯ แต่ยังมั่นใจว่า ไทยสามารถรับมือได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อนำมาผนวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศ ยิ่งทำให้นักลงทุน คิดหนัก มากขึ้น” นางชวินดา กล่าว

นางชวินดา กล่าวอีกว่า สัปดาห์นี้ (7-11 ก.ค.) นักลงทุนสถาบันทั้ง “กองทุนรวม” และ “กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง”  (vayu1) เตรียมหาจังหวะทยอยเข้าลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มหุ้นปันผลสูง คือเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากหุ้นกลุ่มปันผลของไทยมีความน่าสนใจสูง ปัจจุบันให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยเกือบ 5% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งบางตัวให้ปันผลสูงถึง 8% ทั้งยังเป็นธุรกิจหลักของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดทุนทั่วโลก

Back to top button