โบรกชี้ 10 หุ้น “Defensive” ฝ่าตลาดผันผวน ก่อนรู้ผลดีลภาษีสหรัฐ 9 ก.ค.นี้

2 โบรก แนะนักลงทุนถือหุ้นกลุ่ม “Defensive” พื้นฐานมั่นคง รายได้สม่ำเสมอ ฝ่าวิกฤตช่วงตลาดผันผวน รอดีลภาษีสหรัฐ ก่อนเดดไลน์ 9 ก.ค.นี้ ชูลงทุน BDMS, BCH, CPALL, CPAXT, M, MINT, ADVANC และ LH AP SIRI ลดแรงกดดัน พร้อมมองดัชนี SET ไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ 1,056 จุด


ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าและภาษีกับสหรัฐอเมริกา หรือ “ทีมไทยแลนด์” ได้เปิดเผยถึงการเข้าเจรจาภาษีสหรัฐเมื่อวันที่ 4  ก.ค. 68 ที่ผ่านมาว่า จุดยืนของคณะทำงานไทย คือ การเจรจาต้องนำไปสู่ข้อตกลงที่สามารถปฏิบัติได้จริง มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ หรือ win-win solution” แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปสุดท้ายในขณะนี้ แต่ทีมไทยแลนด์จะเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดวันที่ 7 ก.ค. 68 ทางนายพิชัย ชุณหวชิร ได้อัปเดตถึงการหารือปรับข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจรจาภาษีเสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค. ทั้งนี้ เราให้ความสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1.) การปรับสมดุลทางการค้า และ 2.) การลดภาษีนำเข้า เพื่อเร่งให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศกลับสู่ภาวะสมดุลโดยเร็ว ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการส่งเสริมการค้าเพิ่มเติม เพื่อเปิดทางความร่วมมือมากขึ้น

ส่วนการปรับอัตราภาษีนำเข้า 0% ไม่ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด และไม่ได้ส่งผลให้สหรัฐฯ ได้เปรียบประเทศคู่ค้าอื่นอย่างไม่เป็นธรรม สำหรับข้อกังวลด้านสินค้าเกษตร เราตระหนักดีว่าสินค้าประเภทใดที่สามารถเปิดตลาดได้ และประเภทใดที่ยังไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อเสนอใหม่ได้ทั้งหมด แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นที่ว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้

ทั้งนี้ จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมบทวิเคราะห์แนวทางการวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ไทยยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาการค้า รวมถึงอัตราภาษีนำเข้าที่อาจได้รับ โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวนำโดย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า นายพิชัย ชุณหวชิร เผยไทยเจรจาภาษีกับสหรัฐยังไม่ได้ข้อสรุปเตรียมทำข้อเสนอใหม่ก่อนถึงวันมีผลบังคับใช้ภาษีที่ 36% วันที่ 9 ก.ค.นี้

โดยการเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม, พลังงาน, เครื่องบิน BOEING เพื่อลดดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ จาก 46 พันล้านดอลลาร์ลง 70% ภายใน 5 ปี และตั้งเป้าให้ดุลการค้าไทย-สหรัฐฯเป็น 0 ภายใน 7-8 ปี (เร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ 10 ปี) ซึ่งเป็นประเด็นต้องติตตามต่ออย่างใกล้ชิดว่าสรุปแล้วภาษีที่สหรัฐฯจะเก็บไทยจะอยู่ในอัตราที่เท่าไหร่ไทยเสนอสิทธิประโยชน์ทางการค้าแก่สหรัฐฯ

ประเด็นดังกล่าวส่งผลน่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP Growth ไทยในปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินอัตราภาษีระดับต่างๆ จะส่งผลต่อ GDP ดังนี้

1.) TARIFF สูงกว่า 36% ส่งผลต่อ GDP อาจต่ำกว่า 1.3% จากปีก่อน, 2.) TARIFF เท่ากับ 36% ส่งผลต่อ GDP เหลือราว 1.3% จากปีก่อน, 3.) TARIFF ในชาวง 18% ถึง 36% ส่งผลต่อ GDP เหลือราว 2.0% จากปีก่อน

4.) TARIFF เท่ากับ 18% ส่งผลต่อ GDP เหลือราว 2.3% จากปีก่อน 5.) TARIFF ต่ำกว่า 18% ส่งผลต่อ GDP เหลือสูงกว่า 2.3% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเตรียมจัดสรรเม็ดเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผลกระทบจาก TRADE TARIFF อีกทั้ง สภาพัฒน์ เล็งปรับ GDP ใหม่ (ล่าสุดประเมินไว้ที่ 1.3-2.3% ภายใต้ TARIFF 36%) หาก TRUMP ลดภาษีสินค้าไทยให้เหลือตามสมมติฐานที่ 18%

ดังนั้นในช่วงก่อนวันรู้ผล ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ Wait and see หรือถือเงินสดไว้ในพอร์ตราว 5-10% แต่หากประสงค์อยากได้ Capital Gain ก็ถือเป็นจังหวะสะสมที่ดีเนื่องจากดัชนีที่ระดับดังกล่าว Valuation เด่นพร้อมกับการเติบโตของ EPS Growth ในปีนี้

ทั้งนี้ ประเด็น TARIFF อาจกดดันให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาผันผวนอีกครั้ง แต่เชื่อว่า SET น่าจะไม่ทำ Low ใหม่ที่ 1,056 จุด จากการอ่านใจทรัมป์เชื่อว่าความผันผวนและอำนาจต่อรองจากสหรัฐลดลง ดังนี้

1.) การเจรจาการค้าสหรัฐเพิ่งสำเร็จแค่ 2 ประเทศ หากตั้งกำแพงภาษีกับประเทศอื่นแรงๆ สหรัฐฯ ต้องระวังการตอบโต้กลับจากหลายๆ ประเทศ เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา

2.) นโยบาย OBBBA ทำให้สหรัฐขาดดุลเพิ่มขึ้น 3.3-4 ล้านเหรียญฯ ใน 10 ปีข้างหน้า ทำให้รับความผันผวนของตลาดพันธบัตรเหมือนช่วงที่ผ่านมาได้น้อย เนื่องจากต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญฯ หากมีแรงขายออกมา อาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Rollover ได้

3.) ไทยยังมีโอกาสได้อัตราภาษี +/- 20% เพราะหากประเทศต่างๆ ต้องเสียภาษีสูงกว่าเวียดนามที่ 20% มากๆ อาจทำให้เกิด Supply Shock อีกทั้งสหรัฐยังได้ประโยชน์น้อยถ้ามีการให้ประเทศอื่นส่งออกแทน

4.) ระยะถัดไปไทยต้องระวังสิ่งที่สหรัฐต่อรองเพิ่มเติม เหมือนญี่ปุ่นที่มีการเจรา 8 ครั้งยังไม่สำเร็จ เนื่องจากมีการต่อรองเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การนำเข้าข้าวเพิ่ม น้ำมันเพิ่ม และเพิ่มงบทางการทหารให้กองทัพสหรัฐ

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวเชื่อว่า SET Index น่าจะไม่ทำ Low ใหม่ที่ 1,056 จุด ส่วนช่วงสั้นหลบความผันผวน แนะนำหลบเข้าหุ้น Domestic อิงปัจจัย 4 อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ซี.พี. แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M,

บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP, บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH

ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สัปดาห์นี้นักลงทุนจะไปให้น้ำหนักกับเส้นตายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับนานาประเทศตามกำหนดการจะแล้วเสร็จในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ประเทศที่สามารถตกลงการค้ากับสหรัฐฯได้ประกอบไปด้วย จีน เวียดนาม อังกฤษ ข้อมูลล่าสุดสหรัฐฯ ระบุว่า บางประเทศอาจเผชิญภาษีนำเข้าเพียง 10% และบางประเทศก็อาจสูงถึง 70%

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้นล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร ได้แถลงในวันศุกร์ที่ผ่านมา ระบุว่าการเจรจากับสหรัฐฯ เป็นไปได้ด้วยดี พร้อมพูดคุยกับทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชนแต่ข้อเสนอที่ทางไทยเสนอให้กับสหรัฐฯ อาจยังไม่ตรงกับความต้องการจึงต้องกลับมาทำข้อเสนอให้กับสหรัฐฯใหม่ โดยสรุปก็คือยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงรอบสุดท้ายได้

ขณะที่ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระบุว่า จะเจรจาให้ทันก่อนวันที่ 9 ก.ค.นี้ คาดหวังให้ภาษีต่ำกว่าระดับ 18% ฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้ระบุว่าในวันจันทร์นี้จะเตรียมส่งจดหมายให้แต่ละประเทศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเท่าใด เราประเมินความน่าจะเป็นของภาษีแบ่งออกเป็น ดังนี้

1.) กรณีดีที่สุดไทยอาจเผชิญกับภาษีนำเข้าในระดับ 10% กรณีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2% และ SET มีโอกาสตอบรับเชิงบวกนำและกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมกับส่งออกจะได้ผลบวกจากปัจจัยข้างต้น (แต่เชื่อว่าโอกาสน้อย)

2.) กรณีกลางๆ กล่าวคือไทยเผชิญภาษีนำเข้าในช่วง 15-25% เศรษฐกิจไทยน่าจะพอเติบโตได้ในช่วง 1-1.5% SET อาจตอบรับเชิงบวกระยะสั้นๆ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมกับส่งออกอาจได้รับผลกระทบแต่ยังไม่มากเท่าใดนักโดยให้โอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด และ 3.) กรณีเผชิญภาษีนำเข้า 30% ขึ้นไป

หากกรณีเช่นนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 1.3% และ SET Index มีโอกาสตอบรับเชิงลบมีโอกาสทดสอบระดับ Low เดิมที่ 1,050 จุด สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและส่งออก

สำหรับเวียดนามนั้นสินค้าส่งออกหลักๆไปยังสหรัฐฯได้แก่อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ ซึ่งจากการประเมินแล้วกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสเผชิญผลกระทบมากที่สุด ถัดมาจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม

สัปดาห์นี้รอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจประกอบไปด้วยเงินเฟ้อไทยในวันจันทร์ Bloomberg Consensus คาดการณ์ ลบ0.1% จากปีก่อน พร้อมสัปดาห์นี้ประเมิน SET เคลื่อนไหวในกรอบ 1,070 – 1,140 จุด ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนอาจลดพอร์ตการลงทุนเพื่อรอดูการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศรวมถึงไทยหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้จะเป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจโลกและไทย

แต่หากรับความเสี่ยงได้ระยะสั้นอาจเลือกกลุ่ม Defensive อาทิ BDMS หุ้นที่อิงกับต่างประเทศ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รวมถึงกลุ่มสื่อสาร อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC

Back to top button