“มอร์แกน สแตนลีย์” ชี้ดีลการค้าเอเชีย-สหรัฐคืบ หลายชาติยื่นข้อเสนอลดภาษี

มอร์แกน สแตนลีย์เผยความคืบหน้าเจรจาการค้าเอเชีย-สหรัฐฯ หลายชาติยื่นข้อเสนอลดภาษี ขณะไทยเสนอแผนลดเกินดุล หวังได้สิทธิภาษีส่งออกที่ 10% ภายใน 7 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิง รวบรวมโดย Morgan Stanley Research ระบุถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าในเอเชียว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเอเชียกับสหรัฐฯ พบความคืบหน้าหลายด้าน มีดังนี้

จีน ได้ตกลงที่จะระงับการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลให้อัตราภาษีในปัจจุบันเหลือ 10% (ไม่รวมภาษีเพิ่มเติมจากกรณี เฟนทานิล) ไปจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม และชะลอการขึ้นภาษีเพิ่มเติมระหว่างกันกับสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน จีนและสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงให้จีนอนุมัติการส่งออกแร่หายาก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการควบคุมบางประการที่เคยใช้กับจีน เช่น การจำกัดซอฟต์แวร์ออกแบบชิป

อินเดีย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดีย ไพยุช โกยาล (Piyush Goyal) ย้ำชัดว่า อินเดียจะไม่เร่งรีบเจรจาการค้าตามกรอบเวลา และจะลงนามข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อรายละเอียดทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ และสอดคล้องกับประโยชน์ของประเทศเท่านั้น โดยสื่อระบุว่าปัญหาหลักยังคงอยู่ที่การเปิดตลาดสินค้าเกษตร

อินโดนีเซีย ทางการอินโดนีเซียเปิดเผยว่า สหรัฐฯ และอินโดนีเซียจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในวันที่ 7 กรกฎาคม เกี่ยวกับแผนการลงทุน และการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดอัตราภาษีสุดท้ายจากสหรัฐ

ข้อมูลเพิ่มเติม: รายงานระบุว่าดีลจะจบภายในวันที่ 8 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประกาศข่าวอย่างเป็นทางการถึงการตกลงกันระหว่างสองประเทศ

ญี่ปุ่น การเจรจายังดำเนินต่อไป โดยประเด็นสำคัญที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ การยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์ และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น นอกจากนี้ คาดว่าการเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นในวันที่ 20 กรกฎาคม จะยิ่งทำให้การเจรจาซับซ้อนขึ้น

เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ได้ขอขยายระยะเวลาการชะลอขึ้นภาษี เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาต่อ โดยหัวข้อสำคัญยังคงอยู่ที่การยกเลิกหรือลดภาษีรถยนต์และเหล็กกล้า

มาเลเซีย ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องการบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากเจรจามาแล้วสองรอบ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมเปิดเผยออกมา

ไต้หวัน มีเป้าหมายเจรจาข้อตกลงลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ตามแบบความตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement: USMCA) และเสนอเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 10 ปี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ

ไทย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ไทยได้ยื่นข้อเสนอใหม่แก่สหรัฐฯ และเล็งไปที่อัตราภาษี 10% (ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด) โดยเสนอจะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศ และลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลง 70% ภายใน 5 ปี และลดเหลือศูนย์ภายใน 7-8 ปี (ปัจจุบัน ไทยมีมูลค่าการเกินดุลการค้าต่อสหรัฐฯ ราว 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เวียดนาม สหรัฐฯ และเวียดนามบรรลุข้อตกลงในหลักการแล้ว โดยจะกำหนดอัตราภาษีสินค้าส่งออกจากเวียดนามที่ 20% (จากภาษีตอบโต้เดิม 46%) ทั้งนี้ สำหรับการขนส่งสินค้าแบบสวมสิทธิ์ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 40% นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เผยว่า เวียดนามจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ทั้งหมด

ที่มา: CEIC, Haver, Bloomberg, CNBC, Nikkei Asia, Times of India, Morgan Stanley Research

Back to top button