
“บล.พาย” เชื่อไทยลุ้นจบดีลภาษี “ทรัมป์” เหลือ 20-30%
บล.พาย ประเมิน 3 Scenario รับภาษี “ทรัมป์” กดดัน SET ชี้ไทยยังมีลุ้นต่อรองเหลือ 20-30% แนะจับตากลุ่มส่งออก-นิคมฯ เสี่ยงสูง พร้อมชูหุ้น Defensive เป็นทางเลือกปลอดภัย
บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุถึงประเด็นการค้าของสหรัฐกับนานาประเทศพบว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอัตราภาษีนำเข้าแต่ละประแทศเป็นวันที่ 1 ส.ค.68 จากเดิม 9 ก.ค.68 ซึ่ง ทีมไทยแลนด์ ได้เดินทางไปเจรจาการค้ากับสหรัฐ แต่ผลการเจรจายังไม่ประสบความสำเร็จทำให้จำเป็นจะต้องกลับมาทำข้อเสนอใหม่ ขณะที่ SET Index ยังต้องติดตามเรื่องอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากไทย 36% โดยมีผลในวันที่ 1 ส.ค.68 จึงแบ่งเป็นเหตุการณ์ (Scenario) ดังนี้
ในส่วนกรณีที่ 1. ไทยเผชิญภาษีนำเข้าต่ำ 10-18% SET อาจตอบรับเชิงบวขึ้นไปทดสอบ 1,150-1,200 จุด และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างนิคมอุตสาหกรรม และส่งออกมีแนวโน้มจะกลับมาเก็งกำไรระยะสั้น แต่อาจเป็นไปได้ยากกับกรณีนี้ เนื่องด้วยเวียดนามยื่นข้อเสนอที่ให้ประโยชน์กับสหรัฐค่อนข้างมาก แต่ก็ขึ้นกับข้อเสนอที่ไทยจะยื่นให้สหรัฐฯอีกครั้ง แต่เถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนลงไปฝั่งสหรัฐอาจเพ่งเล็งไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับจีน ดังนั้นโอกาสภาษีจะอยู่ในระดับต่ำจึงเป็นไปได้ยาก
กรณีที่ 2 ไทยเผชิญกับภาษีนำเข้าในอัตรากลางๆ 20-30% (เป็นไปได้มากที่สุด) เหตุที่เชื่อเช่นนี้ เพราะมองว่าข้อเสนอที่ไทยให้ไป (เท่าที่มีการเปิดเผย) อาจไม่จูงใจสหรัฐฯ มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพิ่มการนำเข้าเครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติ สินค้าเกษตร รวมไปถึงเข้มงวดเรื่องสวมสิทธิ
แต่ทั้งนี้ ด้วยการไทยเข้าไปเจรจาที่อัตราภาษีเดิม 36% สหรัฐคงจะปรับลดลงมาบ้าง ในส่วนของตลาดหุ้นกลุ่มส่งออกและนิคมฯอาจมีผลกระทบเช่นเดิมแม้จะยังไม่มากนัก แต่แนะให้เน้นกลุ่ม Defensive + Domestic Play จะปลอดภัยกว่า
กรณีที่ 3 โอกาสเผชิญอัตราภาษีสูงกว่า 30% อาจกดดัน SET ปรับฐานลงสู่จุด Low เดิม 1,050 จุด แต่จะทำให้ SET ซื้อขายในช่วง 1 เท่า PBV ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาหากลงมาถึงระดับดังกล่าวมักเป็นแนวรับที่ดี และ Downside จำกัด แนะระมัดระวังกลุ่มส่งออกและนิคมฯอาจโดนผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และให้หันมาเลือกกลุ่ม Defensive อาทิ ADVANC, BDMS, TRUE, CPALL และ MINT
สำหรับกำไร บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยหากใช้สมการที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไร บจ.บนสมมติฐาน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.3% จากปีก่อน จะได้ EPS ราว 90.5 บาท/หุ้น ใกล้เคียงกับ Bloomberg Consensus หากประเมิน PE ที่ราว 12 เท่า
ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าอันดับแรกของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกราว 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยมีสินค้าหลักๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาง นอกจากนี้แล้ว หากดูสินค้าที่สหรัฐฯขาดดุลกับไทยจะประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ
ส่วนเวียดนาม จะพบว่าสินค้าหลักที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอกนิกส์เช่นกัน หากไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากอัตราภาษี เชื่อว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบมากสุด DELTA HANA และ KCE
ในกรณีของ KCE อาจไม่ได้กระทบโดยตรง แต่จะโดนในทางอ้อมผ่านการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯจาก EU นอกจากนี้แล้วหากฐานภาษีสหรัฐสูงอาจกดดันกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ในส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย หากเป็นกรณีเผชิญภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจขยายตัวต่ำเพียง 1.3% จากปีก่อนหน้า แต่หากเผชิญภาษีในอัตราที่ไม่สูงมากเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ 2% จากปีก่อนหน้า