LALIN ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ที่ 3.6 พันลบ. เตรียมเปิด 8-10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 4 พันลบ.

LALIN ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ที่ 3.6 พันลบ. โต 15% เตรียมเปิด 8-10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 4 พันลบ.ในกรุงเทพ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด - ตุน Backlog ราว 750 ลบ. ทยอยโอนปีนี้ทั้งหมด


นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 60 อยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท และตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ปีนี้ไว้ที่ 3.1 พันล้านบาท หรือเติบโต 15% จากปีก่อนทั้งยอดขายและยอดรับรู้รายได้ อีกทั้งบริษัทแผนการเปิดโครงการใหม่ในปี 60 จำนวน 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4 พันล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัดในส่วนของหัวเมืองหลัก และหัวเมืองชั้นรอง แบ่งสัดส่วนทำเลออกเป็น โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% และในทำเลต่างจังหวัด 30%

ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ปี 60 มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากการส่งออกเติบโตน้อยและภาวะการบริโภคของภาคประชาชนชะลอตัว เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ในปี 60 จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐบาลในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการส่งออกฟื้นตัวเล็กน้อยจากการที่เงินบาทอ่อนค่า และต้องประเมินนโยบายจากโดนัลด์ ทรัมป์และยุโรปอีกระยะหนึ่ง ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นรายได้หลัก และจากการเร่งรัดโครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเริ่มลงทุนโครงการจากบี.โอ.ไอ ตลอดจนภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณลงทุนชัดเจนจากรัฐบาลก็จะมีแรงส่งการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยจะค่อยๆ เห็นชัดเจนในไตรมาสที่ 3-4 เป็นต้นไป

 

ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ LALIN กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ราว 750 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนในปีนี้ทั้งหมด จากเป้าหมายยอดรับรู้รายได้ในปีนี้ที่ตั้งไว้ 3.1 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ในปี 59 คาดว่าทำได้ 2.7 พันล้านบาท

สำหรับส่วนแผนการเปิดโครงการในปีนี้จะเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด โดยจะเน้นตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลักในสัดส่วน 70% เพราะตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีการเติบโตที่สูงและมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่มากกว่า 50% ของมูลค่าตลาดอลังหาริทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีที่ดินรองรับการพัฒนาแล้ว 50% ซึ่งอีก 50% บริษัทจะค่อยๆทยอยหาซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนา

ส่วนโครงการในต่างจังหวัดบริษัทได้มีการศึกษาการขยายตลาดไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเช่น ข่อนแก่น เป็นต้น แต่คงจะต้องรอดูจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม เพราะตลาดอสังหาริทรัพย์ในต่างจังหวัดยังชะลอตัวและมีจำนวนซัพพลายด์ล้นตลาดอยู่ ซึ่งหากเข้าไปทันทีจะทำให้โครงการที่บริษัทไปเปิมียอดขายที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

“ในปีนี้บริษัทปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคที่ไว้วางใบริษัทฯ มาโดยตลอดและในปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวอาณาจักร “ลลิล ทาวน์ (LALIN Town)” ไปแล้วหลายแห่ง ได้แก่ ลลิล ทาวน์-พัทยา, ลลิล ทาวน์ เศรษฐกิจ-พุทธสาคร ซึ่งในโครงการประกอบด้วย บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ซีรี่ส์ใหม่ บนพื้นที่ใช้สอย 140-175 ตารางเมตร ในราคาเริ่มต้น 2 ล้านกว่าบาท – 5 ล้านบาท และทาวน์โฮม ขนาดพื้นที่ใช้สอย 85-105 ตารางเมตร ในราคา 1 ล้านกว่าๆ – 2 ล้านบาท” นายชูรัชฎ์ กล่าว 

นายชูรัชฎ์ กล่าวอีกว่า “บริษัทได้มองเห็นความต้องการที่อยู่อาศัยตลาดเรียลดีมานด์ของผู้บริโภคที่ยังขยายตัวสูงขึ้นในทุกๆ ปี บวกกับพฤติกรรมผู้อยู่อาศัยในทำเลดังกล่าวมีความต้องการที่หลากหลายไลฟ์สไตล์ นับว่าตอบโจทย์ด้วยพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลงตัว สามารถปรับแต่งให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของครอบครัว และสามารถรองรับกิจกรรมของครอบครัวได้เป็นอย่างดี”

 

นายไชยยันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทตั้งงบซื้อที่ดินประมาณ 1 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากกระแสเงินสดที่มีในมือที่ได้จากการโอนโครงการที่มีอยู่ อย่างไรก็ดีบริษัทมีแผนออกหุ้นกู้หากมีความจำเป็นเพื่อรองรับในระยะยาวให้เติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน และเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ทศวรรษในปี 60 นี้อย่างแน่นอน

นายไชยยันต์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์รอบสองว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นตลาดได้เพียงระยะสั้นเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่ในภาพรวมก็ถือว่าไม่ได้ช่วยให้ตลาดขยายตัวมากกว่าที่ประเมินไว้โต 3-5% ในปีนี้ เพราะเป็นเหมือนการดึงกำลังซื้อในอนาคตมาใช้ และหลังจากมาตรการสิ้นสุดลงจะเห็นการชะลอตัวของตลาดเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การที่หนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงที่ 80% ของจีดีพี ซึ่งส่งผลให้การขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง ทำให้อัตราการปฏิเสธที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์การติดแบล็คลิสต์ในเครดิตบูโรจากปัจจุบัน 3 ปี เป็น 1 ปี จะเป็นแนวทางที่มองว่ามีความเหมาะสม เพราะจะทำให้ผู้กู้ยืมสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อการขายสินค้าและระบายสต็อกออก ซึ่งจะมีผลดีในระยะยาวมากกว่า เพราะถึงจะใช้มาตรการที่มีผลระยะสั้นแต่ก็ยังต้องเผชิญปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารอยู่ดี

“ขณะนี้ลูกค้าของบริษัทมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในปัจจุบันอยู่ที่ 20-25% ซึ่งบริษัทมีแนวทางในการช่วยหลือด้วยการทำ Pre-approve ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมของลูกค้า หรือในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ให้วงเงินกู้ยืมไม่ครบตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ บริษัทก็จะมีการช่วยเหลือลูกค้าในการผ่อนดาวน์ในส่วนที่เหลือ ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ 2-3 รายให้ความร่วมมือ โดยปกติบริษัทจะเก็บเงินดาวน์ลูกค้า 10% ของราคาขาย” นายไชยยันต์ กล่าว

Back to top button