ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 3 หัวข้อ ถึง 21 มิ.ย.นี้

ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 3 หัวข้อ "ปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้รองรับโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนไทย (Regulatory Sandbox)"-"การจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนตามคำสั่งของก.ล.ต."-"การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน" ถึง 21 มิ.ย.นี้


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้รองรับโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนไทย (Regulatory Sandbox) การจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนตามคำสั่งของ ก.ล.ต. และการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ใน 3 เรื่อง ดังนี้

(1) การปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้สามารถรองรับโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนไทย (Regulatory Sandbox) โดยจะให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศยกเว้นการประกอบธุรกิจบางลักษณะมิให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้ธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวสามารถเข้าโครงการ Regulatory Sandbox ได้เช่นเดียวกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ทั้งนี้ การปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจในตลาดทุนตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าลักษณะที่กำหนด และทำให้ผู้ลงทุนได้รับบริการที่ดี หลากหลาย และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

(2) การจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนตามคำสั่งของ ก.ล.ต. โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีอำนาจสั่งให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานหรือการบริหารกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชน บริษัท หรือผู้ถือหุ้น อย่างมีนัยสำคัญ และไม่สามารถใช้กลไกปกติในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

โดยการใช้อำนาจจะจำกัดแต่เพียงให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ผ่านการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลังและเห็นว่าเป็นการเพิ่มกลไกคุ้มครองผู้ถือหุ้นและคืนอำนาจให้แก่ผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาของบริษัทเอง

(3) การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดให้ CMDF มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประธานกรรมการ CMDF และแต่งตั้งพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้จัดการ CMDF

รวมทั้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายเงินรายปีให้แก่ CMDF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) มีแนวทางให้แยกบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างคล่องตัวและเต็มประสิทธิภาพ

โดย CMDF จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลที่ดี

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การปรับปรุงกฎหมายใน 3 หัวข้อนี้ถือว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเป็นส่วนเพิ่มเติมจากแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนมีนาคม 59 ที่ครอบคลุมเรื่องสำคัญ อาทิ การกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ และการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการกำกับดูแลกองทุนรวม

โดยการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้รับฟังความเห็นของสาธารณชนอย่างรอบด้าน เพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงในชั้นถัดไป ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายที่จะประกาศใช้ มีความเหมาะสมและทำให้ตลาดทุนก้าวหน้า มีศักยภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/hearing) ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 60

X
Back to top button