ย้อนรอยมหากาพย์จาก PICNI สู่ WP

ย้อนรอยมหากาพย์หุ้นร้อนสร้างกระแสในอดีตจาก PICNI วิวัฒนาการสู่ WP ในปัจจุบัน


สืบเนื่องจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อนุมัติให้บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน หลังปฏิบัติตามข้อกำหนดของการพ้นเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว และให้หลักทรัพย์ของบริษัทซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.61 เป็นต้นไปนั้น

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจความเป็นมาของหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยพบว่า WP ได้เปลี่ยนชื่อมาจาก “บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ “PICNIซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง PICNI และ บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG) เมื่อปี 2557 โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุน PICNI นำทุนใหม่เข้ามาฟื้นฟูกิจการ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 83% ของทุนจดทะเบียนใน PICNI ปัจจุบันประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวิลด์แก๊ส”

ทั้งนี้ WP ได้ปรับแผนธุรกิจกระจายความเสี่ยง โดยการต่อยอดธุรกิจสู่บริษัทพลังงานครบวงจรสู่ต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งทีมบริหารได้ปรับแผนธุรกิจสู่เชิงรุกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นที่มาเป็นกรรมการ เช่น กลุ่มศรีวัฒนประภา ของคิงเพาเวอร์, กลุ่มวิไลลักษณ์ ของสามารถ คอร์ปอเรชั่น, หรือกลุ่มนายชัชวาล เจียรวนนท์ ขณะเดียวกัน ได้ลดความเสี่ยงจากผลกระทบราคาน้ำมัน และการลอยตัวก๊าซ LPG โดยได้วางแผนกระจายการลงทุนใน 5 สายธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ และให้ WP เป็นบริษัทพลังงานครบวงจร สร้างรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้บริษัทได้ยืนยันว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ และกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ ไม่มีความเกี่ยวพันใด ๆ กับผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชุดเก่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นหุ้น PICNI หรือมีสัมพันธ์ใดกับกลุ่มลาภวิสุทธิสิน

สำหรับความเป็นมาอันร้อนแรงของหุ้น PICNI นั้นเดิมชื่อบริษัท บีจีอีเอส เอ็นจิเนียริ่ง ซีสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจวิศวกรรมประเภทรับเหมาก่อสร้าง ต่อมาประสบปัญหาทางการเงิน และได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2544 โดยมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา คือบริษัท ยูเนี่ยนแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด เข้ามาฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) และเริ่มประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว

ต่อมาในปี 2546 บริษัทได้รับคำสั่งจากศาลล้มละลายกลาง ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ PICNI ตามลำดับ โดยมีกลุ่มตระกูล “ลาภวิสุทธิสิน” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลให้ราคาหุ้น PICNI ในช่วงปี 2546-2549 เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรุนแรง

ด้วยการสร้างเรื่องราวต่างๆให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันราคาหุ้น PICNI ในตลาดหุ้น ด้วยวิธีตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้อย่างสวยหรู และต่อมามีการไซฟ่อนเงินออกจากธุรกิจหลายรูปแบบ จนถูกดำเนินคดีด้วยมูลค่าความเสียหายหลักพันล้านบาท

ทั้งนี้ในปี 2546 PICNI มีทุนจดทะเบียนเพียง 350 ล้านบาท จนถึงปี 2549 (เพียง 3 ปี) มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,453.45 ล้านบาท หรือกว่า 10 เท่าตัว ขณะเดียวกันบริษัทมีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกันกล่าวคือปี 2548 มีสินทรัพย์รวม 11,857 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 8,574 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขรายได้รวม 20,598 ล้านบาท แต่กลับขาดทุนสุทธิ 3,059 ล้านบาท จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นตัวเลขที่มาจากการดำเนินงานปกติหรือไม่ ที่สำคัญยังมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารและกรรมการอิสระบ่อยครั้งอย่างผิดสังเกตมาโดยตลอด

โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2551 PICNI ได้เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อขอพักการซื้อขายหุ้น (SP) หุ้น PICNI ก่อนขอเข้าฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลางว่า ได้โอนหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส(ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ PICNI ถือหุ้น 100% ให้เจ้าหนี้ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าหนี้รายใด เมื่อไรและอย่างไร

สำหรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้สำนักงานก.ล.ต.ได้ทำการตรวจสอบ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขอหมายศาลอาญา เพื่อเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง และได้กล่าวโทษ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ในฐานะผู้สั่งการร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม 3 ราย

โดยประกอบด้วย นายสุเทพ อัคควุฒิไกร นายภานุวรรษ เลิศวิเศษและนางสาวศศิธร วุฒิรุ่งเรืองสกุล รวมทั้งบริษัท แอสเซ็ทมิลเลี่ยน จำกัด(AMC) นางวันดี โตเจริญ (กรรมการ AMC ขณะเกิดเหตุ) นางสาวลักขณา แสวงหา (กรรมการ AMC ขณะเกิดเหตุ)  บริษัท สีลมแพลนเนอร์ จำกัด นายสนทยา น้อยเจริญ นายธรรมนูญ ทองลือ หม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกูร และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ ทำการทุจริต ยักยอกเงินและหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของPICNI จนบริษัทได้รับความเสียหาย

ในเวลาต่อมาศาลได้สั่งอายัดทรัพย์ นอกจากนั้นยังถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษในความผิดร่วมกับพวกปั่นหุ้นอีกหลายตัว ซึ่งนายสุริยาหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วกว่าสิบปี ส่วนน้องชายและน้องสาวของนายสุริยา อย่างนายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน และนางสาวสุภาพร ลาภวิสุทธิสิน ถูกก.ล.ต.กล่าวโทษในข้อหาแต่งบัญชีงบการเงิน และศาลได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลาถึง 12 ปี

ทั้งนี้หุ้น PICNI หรือ WP ในปัจจุบันนั้น ได้ถูกพักการซื้อขายกว่าสิบปี ราคาปิดครั้งสุดท้าย 1 บาท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ย้ำว่า ราคาปิดครั้งสุดท้ายไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของตัวหุ้นในปัจจุบัน ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน

Back to top button