IRPC กำไร Q1 หดตัว 94% หลังต้นทุนพุ่ง เร่งเดินแผน 5 ยุทธศาสตร์สร้างมูลค่าเพิ่ม1.5พันลบ.

IRPC กำไร Q1 หดตัว 94% หลังต้นทุนพุ่ง เร่งเดินแผน 5 ยุทธศาสตร์สร้างมูลค่าเพิ่ม1.5พันลบ.


บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (รวมบริษัทย่อย) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/62 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 ดังนี้

ทั้งนี้ นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/62 บริษัทมีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาท ลดลง 94% จากระดับกำไรสุทธิ 2,752 ล้านบาท ในไตรมาส 1/61 ขณะที่มีรายได้จากการขายลดลง 10% เป็นผลจากทั้งราคาขายและปริมาณขายปรับตัวลดลง 6% และ 4% ตามลำดับ

โดยผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงอย่างมาก เป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลง และอัตราการกลั่นน้ำมันลดลง 6% จากการที่โรงงาน RDCC ปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 28 วัน เพื่อติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการทำงานของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (โครงการ Catalyst Cooler) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงกลั่นให้สามารถเลือกกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายประเภท

ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,958 ล้านบาท (8.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ลดลง 3,611 ล้านบาท หรือลดลง 42% และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี  (Accounting GIM) อยู่ที่ 5,678 ล้านบาท (9.94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ลดลง 3,095 ล้านบาท หรือลดลง 35% แม้กำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท ก็ตาม โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 3,034 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินลดลง 85 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการลงทุนลดลง 87 ล้านบาท  ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.63 พันล้านบาท นับว่ามีผลการดำเนินงานดีขึ้น เนื่องจากมีกำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราการกลั่นน้ำมันลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน RDCC

ทั้งนี้ บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี อัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 0.96 เท่า และอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (net D/E) อยู่ที่ระดับ 0.66 เท่า มีนโยบายควบคุม net D/E ไม่เกิน 1 เท่า และมีการติดตามการบริหารความเสี่ยงทั้งในด้านการปฏิบัติการและด้านการเงินอย่างใกล้ชิด

สำหรับโครงการ Catalyst Cooler ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้บริษัทสามารถเลือกใช้น้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดมากขึ้นและผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่ม GIM ของ IRPC ประมาณ 0.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามแผนงานที่วางไว้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทรปี 2563 คือการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเรือ (น้ำมันเตา) ให้ไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน โดยจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อบริษัท เนื่องจาก IRPC ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันระดับ 0.5%

ทั้งนี้ บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ GDP (Power of Growth, Power of Digital  และ Power of People) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Power of Digital หรือ IRPC 4.0 ด้วยการ บูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วองค์กร ได้แก่ 1. ระบบการควบคุมและวางแผนการผลิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่วัดผลได้แบบ real-time 2. ระบบการบริหารจัดการ Supply Chain 3. ระบบ Big Data วิเคราะห์ความต้องการของตลาด 4. ระบบ Lean Procurement เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนจัดซื้อจัดจ้าง และ 5. การจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งปีให้กับองค์กรได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและภาคธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โครงการ “IRPC 4.0” จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่จะช่วยยกระดับบริษัทให้พร้อมแข่งขันในเวทีสากลโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน”นายนพดล กล่าว

 

Back to top button