สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 2,000 จุดเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) ทำสถิติพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ปี 2476 โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการใช้มาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,704.91 จุด พุ่งขึ้น 2,112.98 จุด หรือ +11.37% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,417.86 จุด เพิ่มขึ้น 557.18 จุด หรือ +8.12% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,447.33 จุด เพิ่มขึ้น 209.93 จุด หรือ +9.38%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (20 มี.ค.) ซึ่งเป็นการทะยานขึ้นวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าตลาดจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลังจากที่ตลาดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 8.40% ปิดที่ 304 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,242.70 จุด เพิ่มขึ้น 328.40 จุด หรือ +8.39%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,700.57 จุด เพิ่มขึ้น 959.42 จุด หรือ +10.98% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,446.01 จุด เพิ่มขึ้น 452.12 จุด หรือ +9.05%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) โดยทะยานขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 เนื่องจากนักลงทุนมีความหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลกจะช่วยให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,446.01 จุด เพิ่มขึ้น 452.12 จุด หรือ +9.05%

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 90 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) ทำสถิติพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งสุดในรอบ 11 ปี โดยตลาดทองคำยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงินและเวลา เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 93.2 ดอลลาร์ หรือ 5.95% ปิดที่ 1,660.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 99.6 เซนต์ หรือ 7.51% ปิดที่ 14.257 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 74.2 ดอลลาร์ หรือ 11.82% ปิดที่ 701.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 230 ดอลลาร์ หรือ 14.8% ปิดที่ 1,786.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการใช้มาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 2.8% ปิดที่ 24.01 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 27.15 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการรับมือผลกระทบโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงินและเวลา

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.46 เยน จากระดับ 111.50 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9831 ฟรังก์ จากระดับ 0.9840 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4492 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4522 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0757 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0733 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1748 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1528 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.5912 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.5792 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button