“พาณิชย์” ไฟเขียว ต่างชาติลงทุนในไทย พ.ค.63 เพิ่ม 45 ราย เงินสะพัดกว่าหมื่นลบ.

“กระทรวงพาณิชย์” ไฟเขียว ต่างชาติลงทุนในไทย เดือนพ.ค.63 เพิ่ม 45 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 5,062 ล้านบาท


นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยเดือน พ.ค.63 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 45 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 25 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.63 จำนวน 5,062 ล้านบาท

เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจดทะเบียนสูง โดยเป็นการประกอบธุรกิจสนับสนุนบริษัทในเครือ/ในกลุ่มที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมี และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-COMMERCE) โดยเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับจำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 6 ราย เงินลงทุน 122 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 4 ราย เงินลงทุน 62 ล้านบาท และฮ่องกง 2 ราย เงินลงทุน 28 ล้านบาท

ขณะที่ในเดือน พ.ค.63 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน/บริษัทใหม่ทั่วประเทศ 4,195 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 9,672 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 502 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 172 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร 128 ราย คิดเป็น 3%

โดยเมื่อแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทจัดตั้งมากที่สุด 3,136 ราย คิดเป็น 74.76% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท 1,001 ราย คิดเป็น 23.86% ตามด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 52 ราย คิดเป็น 1.24% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 6 ราย คิดเป็น 0.14%

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน พ.ค.63 มีจำนวน 905 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 2,975 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 109 ราย คิดเป็น 12% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 43 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 27 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่เมื่อแบ่งตามช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทเลิกกิจการมากที่สุด 645 ราย คิดเป็น 71.27% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5  ล้านบาท 221 ราย คิดเป็น 24.42% ตามด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 37 ราย คิดเป็น 4.09% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 2 ราย คิดเป็น 0.22%

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 พ.ค.63 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 768,371 ราย มูลค่าทุน 18.45 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 188,350 ราย คิดเป็น 24.51% บริษัทจำกัด 578,755 ราย คิดเป็น 75.32% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,266 ราย คิดเป็น 0.17%

เมื่อแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท 454,308 ราย คิดเป็น 59.13% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท 226,395 ราย คิดเป็น 29.46% รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.07% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 71,915 ราย คิดเป็น 9.36% รวมมูลค่าทุน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.57% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 15,753 ราย คิดเป็น 2.05% รวมมูลค่าทุน 15.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.20%

นายวุฒิไกร ระบุว่า การจัดตั้งธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยเชิงบวกทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่จะทยอยให้ธุรกิจได้รับรู้ รวมทั้งคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในเชิงลบครบทุกด้านเป็นระยะเวลานานแล้ว

Back to top button