ตลท.เตือนผู้ถือหุ้น GUNKUL ศึกษาความเห็น IFA ก่อนลงทุนโรงไฟฟ้ารางเงิน

APM หรือ IFA ของ GUNKUL เห็นว่าผู้ถือหุ้นของ GUNKUL ไม่ควรอนุมัติการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้ารางเงินผ่านการซื้อหุ้นสามัญของบจก. อินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ หลังประเมินผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการรางเงินเท่ากับร้อยละ 11.63 ต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้นทางทฤษฎีซึ่งเท่ากับร้อยละ 13.35


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ว่า การลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในบริษัท รางเงิน โซลูชั่น จำกัด (RNS) ผ่านการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท อินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (IAE) ในสัดส่วนร้อยละ 67 มูลค่า 276 ล้านบาท และเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการรางเงินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า 5,211.50 ล้านบาทมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,487.50 ล้านบาทนั้น

IFA ได้ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการโดยตั้งอยู่บนหลักความระมัดระวัง (Conservative Basis)ด้วยการพิจารณาปริมาณค่าพลังงานไฟฟ้าสุทธิที่ผลิตได้ต่อปี ที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 90 (P90)

ประกอบกับการคำนวณตามทฤษฎี Capital Assets Pricing Model (CAPM)พบว่าอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการรางเงินเท่ากับร้อยละ 11.63 ต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้นทางทฤษฎีซึ่งเท่ากับร้อยละ 13.35 ดังนั้นผู้ถือหุ้นจึงควรงดออกเสียงเพื่อลงมติอนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์จากการลงทุนในโครงการรางเงิน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ถือหุ้นของ GUNKUL โปรดศึกษาข้อมูลในรายงานความเห็น IFA เกี่ยวกับรายการดังกล่าวอย่างรอบคอบ และขอให้ผู้ถือหุ้น GUNKUL เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ เลขที่ 99/1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400

อนึ่ง สรุปรายละเอียดการลงทุนในโครงการรางเงิน (RNS)GUNKUL จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท อินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (IAE) บางส่วนจากผู้ถือหุ้นเดิมของ IAE ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้แก่ นางจรรยา สว่างจิตร จำนวน 1,881,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 33 และนายกฤษณพงศ์ แก้วเทศ จำนวน1,938,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 34 รวมจำนวน 3,819,000 หุ้น มูลค่ารวม 276 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67ของทุนจดทะเบียน IAE (ปัจจุบัน IAE มีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว 570 ล้านบาท)

ทั้งนี้ IAE ถือหุ้นในบริษัท รางเงิน โซลูชั่น จำกัด (RNS) 9,998 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 99.98 ของทุนจดทะเบียนของ RNS(ปัจจุบัน RNS มีทุนจดทะเบียน 1,305 ล้านบาทและทุนชำระแล้ว 327 ล้านบาท)

โดย RNSเป็นผู้ได้รับหนังสือสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขนาดรวม 87   เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่แบบ Feed-in Tariff (FIT) หน่วยละ 5.66 บาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี ซึ่ง GUNKUL มีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ RNS ได้รับก่อนหน้า โดยกำหนดงบลงทุนในโครงการประมาณ 5,211.50 บาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 5,487.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.58 ของสินทรัพย์รวมของ GUNKUL ตามงบการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558

สรุปความเห็นของ IFA บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะ IFA ได้พิจารณาข้อมูลการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน RNS ผ่านการซื้อหุ้นสามัญของ IAEจากผู้ถือหุ้นเดิมของ IAE ในสัดส่วนร้อยละ 67 ของทุนจดทะเบียน IAE คิดเป็นจำนวนเงินรวม 276 ล้านบาท

โดยที่ IAE ถือหุ้น RNS ในสัดส่วนร้อยละ 99.98 ของทุนจดทะเบียน RNS ซึ่ง RNSเป็นผู้ดำเนินการโครงการรางเงิน ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 87 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการด้วยงบลงทุนในโครงการ 5,856.74 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6,132.74 ล้านบาท(แตกต่างจากมูลค่าการลงทุนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558

เนื่องจากมติที่ประชุมดังกล่าว ยังไม่ได้พิจารณาต้นทุนการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างการก่อสร้างและค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดเข้าไปในงบลงทุนสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ IFAได้จัดทำประมาณการงบลงทุนของโครงการดังกล่าวตามสมมติฐานที่กำหนดขึ้นภายใต้หลักความระมัดระวัง(Conservative Basis)) นั้น

IFA ได้ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการโดยตั้งอยู่บนหลักความระมัดระวัง (Conservative Basis) ด้วยการพิจารณาปริมาณค่าพลังงานไฟฟ้าสุทธิที่ผลิตได้ต่อปี ที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 90 (P90)และนำหลักทฤษฎีทางการเงินมาประกอบการคำนวณอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้น (Ke)

โดยเปรียบเทียบอัตราส่วนความเสี่ยงของการลงทุนของบริษัทเทียบกับความเสี่ยงของตลาดโดยรวม (Beta)ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกอบธุรกิจหลักใกล้เคียงกับโครงการรางเงินเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณตามทฤษฎี Capital Assets Pricing Model (CAPM)ซึ่งอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการรางเงินเท่ากับร้อยละ 11.63 ต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้นทางทฤษฎีซึ่งเท่ากับร้อยละ 13.75

โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อ (Adder) เป็นแบบFeed-in-Tariff (FIT) ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2558 ดังนั้น IFA จึงมีความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นควรงดออกเสียงเพื่อลงมติอนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์จากการลงทุนในโครงการรางเงิน

Back to top button