“ศบค.” เปิด 3 เฟส รับผู้ป่วยรักษาในไทย-กักตัวครบ 14 วัน ท่องเที่ยวได้!

“ศบค.” เปิดร่าง Medical and wellness ไฟเขียวกลุ่มผู้ป่วยเดินทางเข้ารักษาในไทยแล้ว พบลงทะเบียนจอง 1,700 ราย จาก 17 ประเทศ-กักตัวครบ 14 วัน ท่องเที่ยวได้!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ค.63) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) ได้อธิบายถึงแผนการนำเสนอร่างการจัดการข้อปฏิบัติการทำ Medical and Wellness Program หรือการนำผู้ป่วยจากต่างประเทศมารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศไทย

โดยระบุว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพิจารณานำเสนอร่างจัดการข้อปฏิบัติ Medical and wellness program นำผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อรักษาโรคในประเทศไทยในฐานะผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1   Medical and Wellness Program เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไทย จะเปิดให้มีการเข้าประเทศในลักษณะของ Medical and wellness Program สำหรับคนกลุ่มที่ต้องการเดินทางมารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ หรือ รพ.เอกชน ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งจะเรียกว่า Hospital Quarantine คือ ผู้เดินทางมาต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นจำนวน 14 วัน แม้ว่าการรักษาพยาบาลจะเสร็จสิ้นแล้ว เช่น ทำจมูกแค่ 5 วัน แต่ต้องอยู่ รพ. ให้ครบ 14 วัน

ขณะที่ในส่วน Alternative Hospital Quarantine เช่นชาวต่างชาติรวมผู้ติดตามที่ต้องการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก เช่น การรักษาผู้มีบุตรยาก เมื่อตรวจรักษาที่คลินิกแล้ว ก็ต้องไปนอนพักที่โรงพยาบาลให้ครบ 14 วัน

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ประสงค์เป็น “สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก” (Alternative Hospital Quarantine) สมัครเข้าร่วมโปรแกรมแล้ว 57 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค.) และอัพเดทล่าสุดเช้าวันที่ 3 ก.ค. รวมทั้งสิ้น 62 แห่ง

โดยเงื่อนไขของผู้เดินทาง คือ จะต้องผ่านการตรวจร่างกาย และทำเรื่องขออนุญาตเดินทางกับกระทรวงต่างประเทศ พร้อมระบุวัตถุประสงค์ซึ่งจะต้องทำการนัดหมายกับทางโรงพยาบาลในไทยเรียบร้อยแล้ว และจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะเดินทางต้องได้รับใบที่เรียกว่า COE หรือ Certificated of Entry ซึ่งทางสถานทูตเป็นผู้ออกให้แล้ว จึงจะเดินทางมาได้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนขอเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยแล้ว 17 ประเทศ รวม 1,700 คนที่ขอเข้าไทยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในเดือน ก.ค. นี้ ประกอบด้วย จากเมียนมา 478 ราย, กัมพูชา 477 ราย, เวียดนาม 39 ราย, จีน 69 ราย, กาตาร์ 95 ราย, ซาอุ14 ราย, โอมาน 187 ราย, คูเวต 137 ราย, ยูเออี 223 ราย

ระยะที่ 2 ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เริ่มช่วงวันที่ 1 ส.ค.63 คือ การขยายโปรแกรม “การท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่” เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปา รีทรีท สมุนไพร หรืออยู่ในโรงแรมที่แยกออกมาชัดเจน

“ลักษณะคือ มาเพื่อรักษาพยาบาลและเดินทางท่องเที่ยวควบคู่กัน เช่น กลุ่มผู้ที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ ศัลยกรรมความงาม ผู้มีบุตรยาก ซึ่งเมื่อรับการรักษาและกักตัวครบ 14 วันแล้ว หลังพ้นการกักตัว 14 วัน จะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศไทย รวมถึงกลุ่มที่จะไปเที่ยวแบบอยู่ในวิลล่า อยู่ในสถานที่ที่จัดให้ ซึ่งมีครบทุกอย่าง จำกัดบริเวณ ก็อาจจะเกิดขึ้นใน 1 ส.ค.” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ระยะที่ 3 จะเป็นส่วนของ Travel Bubble (ทราเวล บับเบิล) เริ่มในช่วงวันที่ 1 ก.ย.  ซึ่งอาจจะเริ่มใช้กับบางกลุ่มเป็นกรณีพิเศษ กลุ่มเฉพาะที่ดูแลได้ก่อน

ส่วนกรณีที่ประชาชนมีข้อกังวลถึงการประกาศข้อยกเว้นให้บุคคล 11 กลุ่มเดินทางเข้าไทยได้นั้น นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า กลุ่มคนที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาได้ตามประกาศดังกล่าว ไม่รวมนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้เดินทางเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น นักธุรกิจ มาทำธุรกรรมบางอย่าง มารับการรักษาพยาบาล ไม่รวมถึงการมาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

Back to top button