GUNKUL ลุ้นปิดดีลซื้อ “โซลาร์เวียดนาม” 2 แห่งไตรมาส 4 กำลังผลิตรวม 50MW

GUNKUL ลุ้นปิดดีลซื้อ “โซลาร์เวียดนาม” 2 แห่งไตรมาส 4 กำลังผลิตรวม 50MW


นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม จำนวน 3 แห่ง โดยแห่งแรกมีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ (MW) แห่งที่ 2 มีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 64 เมกะวัตต์ รวมมีกำลังการผลิต 164 เมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 160 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าการเจรจาจะสามารถสรุปได้ในต้นไตรมาส 4/63 จำนวน 1 ดีลได้อย่างแน่นอน และอีก 1 ดีลในช่วงปลายไตรมาส 4/63 โดยบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เพราะใช้เงินส่วนทุนไม่ถึง 1 พันล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน ขณะที่หุ้นกู้ของบริษัทจะครบกำหนดไถ่ถอน 1,800 ล้านบาทในเดือน เม.ย.64

นางสาวโศภชนา กล่าวว่า การเข้าซื้อโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้เป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 65 ใกล้บรรลุความสำเร็จ โดยในปีหน้าบริษัทก็ยังเดินหน้าเข้าซื้อกิจการโครงการพลังงานต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GUNKUL กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทปรับเป้าหมายรายได้เติบโตเป็น 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 7 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าจะเติบโต 20% เนื่องจากงานนำสายไฟฟ้าลงดินผ่านการร่วมมือกับกรุงเทพธนาคมล่าช้ากว่าแผน เพราะทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทำได้ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร คาดว่าทั้งปีนี้จะทำได้เป็น 60 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด 600 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มรายได้ในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากกระแสลมดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อโรงไฟฟ้าพลังงานลม และรับรู้กำลังการผลิตของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3/63 โครงการ Kenyir Gunkul Solar (KGS) ในประเทศมาเลเซีย ขนาด 30 เมกะวัตต์จะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD)

ขณะที่บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) จำนวน 8 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 3 ปี (ปี 63-65) โดยปีนี้รับรู้ฯ เพียงบางส่วนไม่มากนัก

นางสาวโศภชา กล่าวอีกว่า วันนี้บริษัทได้เปิดตัวหน่วยงาน GUNKUL SPECTRUM เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไป (End User) โดยได้ดำเนินการมาประมาณ 1 ปีแล้ว อีกทั้งร่วมมือกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)หรือเอไอเอส และ บริษัท เอสซีบี เท็นเอ็กซ์ จำกัด (SCB 10X) ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้การพัฒนาขยายตัวได้เร็วมากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานนี้ยังใช้เงินไม่มากในระยะเริ่มต้น

ด้านนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ GUNKUL ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 กล่าวว่า  GUNKUL SPECTRUM มี 9-10 ผลิตภัณฑ์ที่จะทยอยออกมาสู่ตลาด โดยวันนี้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ PEER-TO-PEER ENERGY TRADING PLATFORM ที่ได้รับสิทธิการทำ Sandbox ในโครงการนำร่องร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน ซึ่งได้จับมือกับเอไอเอสช่วยต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์นี้ไปถึงผู้ใช้งานกว่า 41 ล้านคนให้สามารถขายไฟฟ้าข้ามจังหวัดได้ ซึ่งทางบริษัทจะเริ่มการทดสอบในปลายปีนี้ใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพ พิษณุโลก และนครราชสีมา คาดว่าจะใช้เวลาทดสอบกว่า 1 ปี เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคก่อนจะนำออกมาใช้จริง โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ทั้งนี้ PEER-TO-PEER ENERGY TRADING PLATFORM ได้รับสิทธิจาก กกพ.พร้อมกับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่ทำผลิตภัณฑ์ซื้อขายไฟในพื้นที่ใกล้เคียงกัน , บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และอีกผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัววันนี้ VOLT ENERGY MARKETPLACE แพลตฟอร์มแมตช์ชิ่งผู้ติดตั้ง Solar Rooftop กับลูกค้าที่สนใจ โดย VOLT จะเริ่มต้นให้บริการในลักษณะของ B2C (Business-to-Consumer) ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถต่อยอดเป็น Marketplace แบบครบวงจรในลักษณะ B2B ที่จะช่วยสร้าง Ecosystem ของผู้ซื้อ ผู้ขายและผู้ใช้พลังงาน โดย SCB 10X สามารถเข้ามาช่วยในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด

Back to top button