“พาณิชย์” เผย ปชช. งดเที่ยวช่วงหยุดยาว ต.ค. เหตุกังวล “โควิด”-ของแพง!

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์” เผยผลสำรวจ ปชช. ส่วนใหญ่ ไม่เดินทางช่วงหยุดยาว ต.ค. เหตุวิตก "โควิด" ระบาด ระลอกสอง-สินค้าแพง


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2563 สนค. ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว โดยสำรวจผู้บริโภคทั้งประเทศ ครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ (884 อำเภอ/เขต) รวมทั้งสิ้น 8,124 คน พบว่า การเดินทางในช่วงวันหยุดยาว (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) ประชาชนเดินทางร้อยละ 27.4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว ร้อยละ 56.0 และกลับภูมิลำเนาร้อยละ 44.0 โดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่เกิน 10,000 บาท คิดเป็น ร้อยละ 86.1 (ต่ำกว่า 5,000 บาท มากที่สุด ร้อยละ 48.4 รองลงมาเป็น 5,000-10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.7) และใช้จ่ายเกิน 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 13.9

สำหรับสาเหตุที่ประชาชนไม่เดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากต้องการประหยัดเงิน และไม่อยากไปไหน (ชอบพักผ่อนอยู่บ้าน) มีสัดส่วนรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 85.2 (ร้อยละ 55.7 และ 29.5 ตามลำดับ) ในขณะที่ไม่ทราบว่าจะไปที่ไหน/ไม่มีข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 14.8

สำหรับในวันหยุดยาวเดือนตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนที่ไม่มีแผนการเดินทางไปต่างจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 47.7 รองลงมา คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 40.6 และสุดท้ายคือ มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดเพียงร้อยละ 11.7

นอกจากนั้น สนค.ยังสำรวจความกังวลของผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง เป็นอันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 40.1 รองลงมา คือ ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 17.2 และลำดับที่ 3 เป็นภาระหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ 14.4

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในการเดินทางช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังคงมีความระมัดระวังในด้านการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มมีการระบาดระลอกสอง ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับปัจจุบันคนไทยเริ่มปรับตัวสู่ยุค New Normal ทั้งในเรื่องวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาดให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวในยุค New Normal และสร้างความมั่นใจต่อประชาชนในมาตรฐานการดูแลรักษาความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ ให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งธุรกิจโรงแรม ขนส่ง ร้านขายของที่ระลึก และร้านขายอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคากับผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรมด้วย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่ม

Back to top button