“ชวน” เดินสายพบ ปธ.องคมนตรี-อดีตนายกฯ หารือแนวทางสร้างปรองดอง เมินม็อบปัดร่วมสังฆกรรม

“ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ เดินสายพบ ประธานองคมนตรี-อดีตนายกฯ หารือแนวทางสร้างปรองดอง เมินม็อบปัดร่วมสังฆกรรม


นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มราษฎรประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาเลย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการติดต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพื่อขอความคิดเห็น เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญเป็นกรรมการ แต่ในอนาคตไม่แน่ เนื่องจากทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตั้งใจจะเดินสายไปพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคน รวมถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรีด้วย ส่วนนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ทราบว่าสุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็จะโทรศัพท์ไปสอบถามว่าไหวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การเดินสายหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาหลายคนด้วย ขณะเดียวกันหากจะมีคู่ขัดแย้งเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งตอนนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย

      “เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์ร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน” นายชวน กล่าว

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธว่า การเดินทางไปหารือกับประธานองคมนตรีไม่ได้ไปเพื่อหารือเรื่องสถาบัน “ไม่ครับ เรียนว่าตั้งใจจะไปกราบเรียนท่านในฐานะท่านมีประสบการณ์ไม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ไม่มีเหตุผลไปคุยเรื่องนั้น แต่หารือกับท่านในฐานะอดีตนายกฯคนหนึ่ง”นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ได้เป็นแนวคิดของรัฐสภา แต่เป็นเรื่องที่รับมาจากฝ่ายต่างๆ หากไม่รับมาก็จะกลายเป็นการมองข้ามการแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงต้องทำเพื่อให้การเมืองภายใต้ระบอบรัฐสภามีความเข้มแข็ง รวมไปถึงลดความขัดแย้งที่มีในหมู่ของประชาชน ไม่มีอะไรที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่หากว่ามีหนทางใดก็จะเป็นประโยชน์ เชื่อว่าสามารถใช้ประสบการณ์มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ ไม่ได้มองแต่อดีต แต่จะใช้เหตุการณ์ในอดีตมาปรับใช้กับสถานการณ์ในอนาคต

“การเชิญใครมาเป็นกรรมการเป็นเรื่องยาก ผู้ใหญ่ที่ผมโทรศัพท์หาก็ยังไม่ได้เป็นกรรมการ แต่ท่านเห็นด้วยกับการหาทางลดความรุนแรงในบ้านเมือง และการจะเชิญใครมาเป็นคณะกรรมการต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และผมเองก็ไม่เคยคิดจะเข้าไปนั่งเป็นประธานเองหรือเข้าไปเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับผู้ชุมนุม” นายชวน กล่าว

กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันจะไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการนั้น นายชวน กล่าวว่า เราตั้งใจนำผู้ที่ต้องการเห็นความปรองดอง ใครที่ยื่นคำขาดจะไม่ร่วมก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ทำงานในส่วนของเรา โดยได้แจ้งกับเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าการวางโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องแยกเรื่องผู้ชุมนุมที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าออกจากการแก้ไขในอนาคต อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปติดตาม แต่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการมองไปในอนาคต

การที่ผู้ขัดแย้งไม่มาร่วมเป็นกรรมการจะเป็นปัญหาหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา เพราะข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงคิดรูปแบบมา 2 รูปแบบ ถ้าแบบที่มีผู้ชุมนุมอยู่ในคณะกรรมการทำไม่ได้ ก็เลือกรูปแบบที่ 2 ขณะนี้ขอให้รอการประสานบุคคลเพื่อขอความคิดเห็น ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการได้ทันทีทันใด และเป้าหมายของเราต้องการให้คนที่เข้ามาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในประเทศ ไม่ใช่มาทะเลาะกัน

ส่วนผู้ชุมนุมจะเข้ามาร่วมเป็นกรรมการหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า “ต้องเอาความสมัครใจ ที่ผมเชิญตัวแทนท่านสุทินมาคุย เพราะตอนนั้นฝ่ายค้านประกาศก่อนว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย ผมขอคำยืนยันจากท่านสุทิน แต่ท่านสุทินบอกว่าขอดูแนวทางก่อน แต่วันนั้นเรื่องใหญ่คือความเห็นของประธานวุฒิสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาให้ความเห็นในทางที่เราไม่เคยมาก่อน”

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะไปพบกลุ่มเยาวชนเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาร่วมกระบวนการสมานฉันท์ว่า แล้วแต่ใครที่เต็มใจก็จะไปคุยด้วย แต่สมมุติมีคณะกรรมการแล้วการพูดคุยก็เป็นหน้าที่ของกรรมการ ตนเองมีหน้าที่ดูว่าจะใช้รูปแบบใดตั้งกรรมการ จะคัดใครเข้ามา เป็นคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นไปเป็นประธานเอง

“เราตั้งใจเอาคนที่มีความตั้งใจที่จะเห็นการปรองดอง แต่ใครที่ยื่นคำขาดมาก็เป็นเรื่องเขาไป และเราก็จะทำงานในส่วนของเราไป ผมบอกเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าให้แยกระหว่างเรื่องการชุมนุมกับเรื่องอนาคต” นายชวน กล่าว

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการหารือกันก่อนเพื่อกำหนดแนวทางในการลงมติที่อาจใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากการประชุมรัฐสภาไม่จบในวันที่ 17 พ.ย.จะประชุมต่อไปถึงวันที่ 18 พ.ย. หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับการประชุมวันที่ 18 พ.ย.ก็จะต้องไปประชุมกันอีกครั้งในภายหลัง

Back to top button