“เศรษฐพุฒิ” ถอดบทเรียนโควิด ชี้ไทยต้องมีเครื่องมือขับเคลื่อนศก. มากกว่าส่งออก-ท่องเที่ยว

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯ ธปท. ถอดบทเรียนหลังเผชิญวิกฤต "โควิด" ชี้ไทยต้องมีเครื่องมือขับเคลื่อนศก. มากกว่าพึ่งพา "ส่งออก-ท่องเที่ยว" เป็นหลัก


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก” ว่า เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาจนถึงขั้น GDP ติดลบมาแล้ว 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปี 2541 จากผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ GDP หดตัว -8% ส่วนปี 2552 ผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ GDP หดตัวเกือบ -1% และในปี 2563 จากผลกระทบของโควิดระบาด ที่คาดว่าจะทำให้ GDP ปีนี้หดตัว -8%

หากพิจารณาดูในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึง -50% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน หดตัว -10% ในขณะที่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แม้การส่งออกจะหดตัวถึง -15% แต่ GDP ก็หดตัวไม่ถึง -1% เพราะโครงสร้างการส่งออกในขณะนั้น มีพระเอกหลัก 3 กลุ่มสำคัญ คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ที่คิดเป็นสัดส่วนรวมกันราว 50% ของการส่งออกทั้งหมด แต่มีการจ้างงานแค่เพียง 4% เท่านั้น

ในขณะที่วิกฤติโควิดรอบนี้ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะแม้จะมีสัดส่วนราว 11-12% ต่อจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่มีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึง 20% จึงทำให้มีผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงกว่าวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา ประกอบกับไทยยังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ในช่วงก่อนเกิดโควิด จากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้มีการกู้เงินมากขึ้น ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ระดับ 80% และเพิ่มขึ้นเป็น 84% ในช่วงโควิด

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤติรอบนี้ไปได้ เนื่องจากเสถียรภาพของระบบการเงินในรอบนี้ดีกว่าในช่วงปี 40  ตลอดจนระบบธนาคารพาณิชย์ก็มีความเข้มแข็ง สภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ระดับ 19% ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รวมทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3% จากในช่วงปี 40 ซึ่งสูงถึงระดับ 40%

“แม้จะมองว่าอาการหนัก แต่เสถียรภาพโดยรวมเมื่อเทียบกับอดีต คือว่ายังดีกว่า ปัญหาสามารถแก้ไขได้ แต่ที่สำคัญคือ 1.ต้องใช้เวลา เนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้าง และ 2.ต้องแก้ให้ตรงจุด อย่าเหวี่ยงแห หรือสร้างผลข้างเคียงไปซ้ำเติมปัญหา ต้องแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจไปบ้าง อย่าเน้น Popular Vote” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

โดยบทเรียนที่ได้จากในช่วงวิกฤติโควิดนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ประเทศไทยควรต้องมีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือไปจากการส่งออก และการท่องเที่ยว เพราะหากเราพึ่งพาเครื่องยนต์หลักเพียงเครื่องยนต์เดียว แล้วเครื่องยนต์นั้นเกิดสะดุดหรือมีปัญหาขึ้นก็จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามมา

“เมื่อเราเจอสถานการณ์โควิด จากเดิมที่คิดว่าเศรษฐกิจเรายืดหยุ่น แต่เราอาจไม่ได้แข็งแกร่งเท่าที่คิด เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยง สร้างความเปราะบางที่กระทบในวงกว้าง ดังนั้นจึงควรต้องมีเครื่องยนต์ที่หลากหลาย นี่คือบทเรียนที่ได้จากโควิดรอบนี้” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

Back to top button