“ธปท.” มองเงินบาท ปี 64 ผันผวนสูง-ต้านทานยาก ชี้ปัจจัยเหนือการควบคุม

“ธปท.” มองเงินบาท ปี 64 ผันผวนสูง-ต้านทานยาก ชี้ปัจจัยเหนือการควบคุม


นายวศิน โรจยารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า Theme ของอัตราแลกเปลี่ยนในปี 64 มีคำสำคัญอยู่สองคำ คือ ผันผวนสูง และต้านทานยาก โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด “ความผันผวนสูง” ยังคงเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากประเทศใดมีข่าวว่าเกิดการแพร่ระบาดหนัก กระแสเงินทุนจะไหลออกจากประเทศนั้นอย่างฉับพลัน หรือหากมีการประกาศใช้วัคซีน กระแสเงินทุนมีแนวโน้มจะไหลกลับเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสภาพคล่องล้นโลก จากธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้ามาเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องไหลไปสู่สินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ในอีกไม่ช้านโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน จะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐอ่อนลง และมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

อีกคำสำคัญคือ “ต้านทานยาก” โดยมีการศึกษาในธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศถึง 85% ไม่เคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศเพียง 15% หมายความว่า เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนขยับไปมาอย่างรวดเร็วมักเกิดจากปัจจัยภายนอก เวลาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐขยับ เงินบาทก็จะปรับตามทันที ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น

“ดังนั้น ในปี 64 การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คาดการณ์ได้เลยว่าจะต้องเหวี่ยงสูงแน่นอน” นายวศิน ระบุ

ด้านนายนิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างปัญหาให้กลไกทางเศรษฐกิจหดตัว แต่ดุลการค้าของไทยยังเกินดุล เพราะกำลังการผลิตของไทยต่ำ การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และลดลงมากกว่าการส่งออกที่ชะลอตัวลง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่ต่ำ ซึ่งการลงทุนที่ต่ำทำให้การนำเข้าต่ำลงไปอีกด้วย

นอกจากนี้ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐ ในเดือน ธ.ค.63 เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ -0.27% ในขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 1.2% แสดงให้เห็นถึงระดับราคาสินค้าของไทยถูกกว่าสินค้าของสหรัฐโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีมากกว่า เงินบาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น โดยสาเหตุเชิงโครงสร้างที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยต่ำ คือ การผลิตของประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับศักยภาพ เห็นได้ว่าทิศทางของเงินบาทจะขึ้นอยู่กับตลาดสินค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ความผันผวนของค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับตลาดเงินเป็นสำคัญ ปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์มีมากกว่าปริมาณการซื้อขายสินค้าและบริการมาก เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานี้ เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนยังมองว่าไทยมีความเสี่ยงต่ำจากเสถียรภาพทางการเงิน ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น หนี้สาธารณะยังไม่สูงมากจนจะเกิดวิกฤตหนี้ อัตราดอกเบี้ยนโบบายในระดับต่ำที่ 0.5% จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทยมากขึ้น มองการค้นพบวัคซีนต้านทานการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้จะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกโดยรวมจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก

Back to top button