“ผู้ว่า ธปท.” คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว Q1/66 หลังวิกฤติโควิดลากยาว!

“ผู้ว่า ธปท.”คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว Q1/66 หลังวิกฤติโควิดลากยาว! กระทบเศรษฐกิจ-กำลังซื้อผู้บริโภค-การใช้จ่ายประชาชนหดตัว


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรง รวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 อาจต้องรอไปถึงไตรมาสแรกของปี 66 โดยการระบาดในประเทศที่เกิดขึ้นหลายระลอก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดเป็นช่วง ๆ จนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“รายใดที่สายป่านสั้น ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ หลายธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าจะกลับมาเป็นปกติในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”

ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นบททดสอบภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไทย เวลาปีครึ่งนับตั้งแต่การระบาดเมื่อปี 2563 พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยหดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กระทั่งถึงการระบาดในระลอกที่ 3 รวมถึงการกระจายวัคซีนที่ไม่แน่นอน จึงทำให้เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐ และ ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แต่ยังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ความช่วยเหลือเดิมไม่เพียงพอ จึงต้องยกระดับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

โดย ธปท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ในการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดของซอฟท์โลนเดิม เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงขยายเวลาการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว พร้อมทั้งขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอในการฟื้นตัว และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก อยู่ที่ไม่เกิน 2% ต่อปี พร้อมทั้งเว้นดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายเล็ก จะได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่าส่วนอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มาก มีสายป่านสั้น และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว

“แม้จะมีการขยายเงื่อนไขการช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูให้ครอบคลุมแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่า คือการบริหารจัดการมาตรการ การให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของเอสเอ็มอีได้ยาก เนื่องจากขาดข้อมูลในการพิจารณา ขาดคนกลางในการชี้เป้าหมายว่าเอสเอ็มอีใดที่พอจะมีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาทำให้ระหว่างนี้ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนต้องร่วมมือกัน คือ 1.รัฐบาล 2.สถาบันการเงิน 3.ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ 4.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยยกระดับบทบาทของตัวเองในการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องอย่างทันการ รัฐบาล และ ธปท. มีบทบาทในการลดความเสี่ยงภาพรวมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ด้วยการเพิ่มกลไกของ บสย. เข้ามาในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

ขณะที่สถาบันการเงิน มีบทบาทในการประสานและเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมเข้าถึงยากให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อ

ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอง ก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมให้อยู่รอด และรับโอกาสในการสนับสนุนสภาพคล่อง ยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการด้านการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐานสากล ดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และสต็อกสินค้าได้ดีขึ้นด้วย รวมถึงเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ข้อมูล และฐานะทางการเงินของเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

Back to top button