5 โบรกประสานเสียง “ซื้อ” WICE อัพเป้าสูง 18 บ. รับไฮซีซั่นส่งออก ดันรายได้ปีนี้โต 45%

5 โบรกประสานเสียง “ซื้อ” WICE อัพเป้าสูง 18 บ. รับไฮซีซั่นส่งออกครึ่งปีหลัง ดันรายได้ปีนี้โตทะลัก 45%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ล่าสุดเมื่อวันที่ 27ส.ค. 64 เปิดตลาดที่ 13.20 บาท จากนั้นปรับตัวขึ้นสูงสุดของวันอยู่ที่ 13.30 บาท ก่อนจะมาปิดการซื้อขายที่ระดับ 13.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 72.74 ล้านบาท

ทั้งนี้ราคาหุ้น WICE เป็นขาขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ยืนอยู่แถวๆที่ระดับ 5 บาทและทะยานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผลมาจากแนวโน้มผลประกอบการปีนี้จะเติบโตเด่น และล่าสุดนักวิเคราะห์มองว่าแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 3/2564 นิวไฮต่อเนื่อง 7 ไตรมาส คาดหนุนทั้งปี 2564 เติบโตโดดเด่นจากดีมานด์การส่งออกพุ่ง และครึ่งปีหลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่ 5 โบรกเกอร์ชั้นนำของไทยได้ประสานเสียง แนะนำ “ซื้อ” WICE ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ 14.30-18.00 บาท นำโดย บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน),บริษัท หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน),บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน),ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุในบทวิเคราะห์ดังนี้

KTBST แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 18.00 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นบวกจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2/64 ดีขึ้นต่อเนื่อง และมีการปรับเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 45%  ปรับเป้าอัตรากำไรสุทธิขึ้นเป็น 7% และธุรกิจ Sea freight ยังคงเติบโตเนื่องจากเป็น ช่วงไฮซีซั่น รวมถึงยังคงได้ผลบวกจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น      อีกทั้งธุรกิจ Cross border ขยายตัวได้ดีกว่าคาด โดยบริษัทประเมินว่ารายได้ในปี 64 จะเติบโตเพิ่ม 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน มากกว่าเป้าเดิมที่ 30% และ มีแผนจะทำดีล M&A ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ โดยจะใช้เงิน ลงทุนราว 200-300 ล้านบาท

นอกจากนี้ KTBST คาดกำไรสุทธิปี 64 ที่ 414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็น 47% จากทั้งปี สำหรับครึ่งปีหลังยังคงสดใสต่อเนื่อง โดยธุรกิจ Sea freight และ Cross border จะยังคงเติบโตโดดเด่น และจะมีการรับรู้รายได้จากคลังสินค้าแห่งใหม่เพิ่ม 100 ล้านบาท รวมถึงอัตรากำไรสุทธิจะดีขึ้นจากการเข้าถือหุ้น ETL เพิ่มเป็น 51% จากเดิม 40%

KTBST ยังคาดว่าราคาหุ้น outperform มากกว่าตลาด SET ที่ 76% ใน 3 เดือน จากกำไรครึ่งปีแรกที่เติบโตโดดเด่น และยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 18.00 บาท จากกำไรช่วงครึ่งปีหลังที่จะทำนิวไฮได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ยังคงเติบโตสูง ตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐ, จีน และยุโรป ที่เป็นตลาดหลักของบริษัท รวมถึงกำไร ยังสามารถเพิ่มได้อีก หากดีล M&A ใหม่ประสบความสำเร็จ ด้านการประเมินมูลค่าหุ้นยังน่าสนใจ อัตราส่วนระหว่างราคาหุ้น และกำไรต่อหุ้นที่ 20.3 เท่า (-0.5SD below 5-yr average PER) และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ peers ที่ 28 เท่า สำหรับกำไรของ บริษัทในปี 63-66 คาดว่าจะเติบโตได้ดีเฉลี่ยต่อปี 37%

 CNS ให้ราคาเป้าหมาย เป็น 16 บาท

บริษัท หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่าธุรกิจโลจิสติกส์ยังอยู่ในจุดที่ดีต่อเนื่องจากทั้งราคาและปริมาณขนส่ง โดยราคาตามค่าระวาง Air freight และ Sea freight ทรงตัว ส่วนปริมาณตามภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับได้งานจากลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง อีกทั้งครึ่งหลังปี 64 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ คาดไตรมาส 3/64 ยังคงเติบโต เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าต่อเนื่อง

โดยประเมินกำไรทั้งปี2564 เติบโตขึ้น 101% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 403 ล้านบาท จากรายได้ที่คาดโต 46% และอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งประเมินราคาซื้อขายโดยมีค่า PER21F 21 เท่า และคาดยังมีเพิ่มกำไรจากโอกาสการขยายธุรกิจผ่านการทำ M&A/JV เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ปรับเพิ่มกำไรและค่า TP22F เป็น 16 บาท มองโมเมนตัมกำไรดีทั้งไตรมาส 3/2564 และไตรมาส 4/2564 ตามช่วงไฮซีซั่นเป็นปัจจัยหนุนทั้งระยะสั้นและกลางยาว โดยระยะสั้นยังรับประโยชน์จากภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาด และการปิดท่าเรือ รวมถึง บาทอ่อนค่า และระยะกลางยาว ยังเติบโตไปกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของแนวโน้ม 5G และ Smart devices ที่ขยายตัวมากในเอเชีย และแผนนำบ.ลูก (ETL) ขาย IPO ปี 22F ซึ่งให้สิทธิผู้ถือหุ้น WICE ซื้อหุ้น IPO ด้วย

MBKET ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาเพิ่ม 31% เป็น 15.45 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่าภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นสถิติใหม่ครั้งที่ 6 ที่ 111 ลบ. เพิ่มขึ้น 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้น101.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่คาดไว้ 21% พร้อมขยายอัตรากำไรขั้นต้นสู่ 17.7% จากการเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกของไทย และความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศฝั่งเอเชียที่บริษัทมีสำนักงานประจำการ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ขณะที่กลางปีบริษัทมีการขยายการให้บริการ Cross boarder เพิ่มขึ้น 17% เป็น 1,400 ตู้ต่อเดือน และ มีพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น 66% โดยคลังสินค้าใหม่แห่งที่ 3 ประกอบกับอัตราค่าระวางทุกประเภททรงตัวในระดับสูง ทำให้มั่นใจว่าจะเห็นกำไรสุทธิรายไตรมาสสูงสุดเป็นสถิติใหม่ครั้งที่ 7 ติดต่อกันในไตรมาส 3/64

อีกทั้งมีการปรับเป้ารายได้จากเดิม 4,800 ล้านบาท หรือ 20% เป็น 5,800 ล้านบาท หรือ 45% เมื่อเทียบกับปี 63  และเป้าอัตรากำไรสุทธิจาก 6.0% เป็น 7.0% โดยเป้ารายได้ใหม่ของผู้บริหารยังคงเป็นเป้าที่อนุรักษ์นิยม แต่สามารถทะลุได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่ง MBKET มองว่าเป็นเป้าที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพบริษัท และสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่คึกคัก เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก 64 บริษัททำรายได้ 2,980 ล้านบาท เกินครึ่งทางของเป้าไปแล้ว จึงปรับปรุงสมมติฐานรายได้ขึ้น 16% เป็น 6,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 6.6% ได้กำไรสุทธิ 403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นมา 4.6%

MBKET ยังคงแนะนำ “ซื้อ” จากการที่บริษัทแสดงผลกำไรที่ดีสม่ำเสมอ ดีกว่าคาด มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะการยกระดับอัตรากำไรขึ้นมาระดับสูงได้ โดยปรับปรุงราคาเหมาะสมขึ้นจากเดิม 31% เป็น 15.45 บาท ซึ่งนอกจากจะมาจากการปรับประมาณการกำไรแล้ว ยังได้ยก PE เป้าหมายปี 2564 ขึ้นจาก 20 เป็น 25 เท่า (ค่าเฉลี่ย 4 ปี ย้อนหลัง) สะท้อนเป็น PEG เป้าหมายเพียง 0.25 เท่า

PST แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาปี 65 ที่ 15 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ได้ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในช่วงไตรมาส 2/64 บริษัทมีกำไร 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.6% ตามรายได้ที่เติบโต และมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 63.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1,699 ล้านบาท มากกว่าที่คาด 8.4% ด้วยการขนส่งทางทะเลโตเด่นเพิ่มขึ้น 429% จากค่าระวางที่สูงขึ้นตามการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งการขนส่งข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้น 94% จากการเพิ่มปริมาณการขนส่ง และขนส่งในประเทศเพิ่มขึ้น 38% ชดเชยขนส่งทาง อากาศที่ลดลง 29% อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นเป็น 17.8% จาก 14.9% เพราะปีก่อนมีการให้บริการขนส่งแบบเหมาลำที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำ ค่าใช้จ่ายจ่ายการขาย ทั่วไปและบริหารเพิ่มขึ้น 113.8% ตามรายได้และตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานเพิ่ม

สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง คาดดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น อีกทั้งการนำเข้าส่งออกของไทยยังดีต่อเนื่อง และยังมีปัญหาขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ ขนส่งข้ามพรมแดนยังได้รับความนิยมและเพิ่มบริการแบบไม่เต็มตู้ อีกทั้งเปิดคลังสินค้าแห่งใหม่ และเข้าถือหุ้นในบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล  โลจิสติกส์ จำกัด (ETL) เพิ่มอีก 11% เป็น 51% ทำให้รับรู้กำไรได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ช่วงไตรมาส 2/64 มีกำไรดีกว่าคาด และครึ่งปีหลังยังดีต่อ โดยปรับกำไรปีนี้เป็น 404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปี 65 ที่ 491 ล้านบาท โดยอิง PE ที่ 20 เท่า ปรับราคาพื้นฐานเป็นปี 65 ที่ 15 บาท ปรับคำแนะนำ ขึ้นเป็น “ซื้อ”

CGS เปลี่ยนคำแนะนำเป็น “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 14.30 บาท

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คาดผลประกอบการในครึ่งหลังของปีจะยังเติบโต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแข็งแกร่งต่อเนื่องหนุน โดยรายได้ในทุกภาคส่วนที่เติบโตตามอุปสงค์การส่งออกสินค้าที่ยังสูง โดยเฉพาะไปอเมริกา ประกอบกับค่าบริการขนส่งทางเรือยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงหลังได้อานิสงส์จาก อุปทานเรือที่ขาดแคลน

กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 64 อยู่ที่ 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อน ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่ โดยกำไรที่เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยรายได้รวมที่เติบโต 64% มาอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท เปลี่ยนคำแนะนำเป็น “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 14.30 บาท โดยคาดว่ากำไรในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง ตามราคาค่าขนส่งทางทะเลที่ยังสูงจากปัญหาอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนประกอบกับอุปสงค์การขนส่งทางอากาศที่ยังดีต่อเนื่องตามปัจจัยฤดูกาล

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 64 บริษัทมีการปรับเป้ารายได้ในปีนี้จากเดิมที่ 20% เป็นประมาณ 45 % คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่ความต้องการขนส่งสินค้าในตลาดหลัก เน้นสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีความเชี่ยวชาญ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การขนส่งทางทะเลมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด อีกทั้งปัจจัยด้านค่าระวางเรือและเส้นทางขนส่งสินค้าทำให้งานบริการขนส่งข้ามพรมแดน (Cross border Service) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

บริษัทมีการเพิ่มเที่ยวการขนส่งในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งข้ามพรมแดนที่มีการเพิ่มตู้คอนเทนเนอร์และเที่ยวขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 1,400 เที่ยวต่อเดือน ส่งผลให้มีการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 40-50% อีกทั้งมีการเปิดคลังสินค้าใหม่ย่านบางนาเพื่อรองรับฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจการค้าปลีก (Retail) และ E-Commerce  ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

นอกจากนี้บริษัทได้มีแผนซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด หรือ ETL ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 2,244,898 หุ้น จำนวนเงิน 138 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของการให้บริการขนส่งในประเทศและการขนส่งข้ามแดนในอนาคต และเป็นการเพิ่มกำไรให้กับบริษัทที่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน ETL ถึง 51%

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) 37% ,งานบริการทางอากาศ (Air Freight) 29%, ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Service ) 28% , และงานซัพพลายเชน 6%

Back to top button