“ก.ล.ต.” ปรับเกณฑ์เปิดเผย factsheets กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ pooled fund

“ก.ล.ต.” ปรับเกณฑ์เปิดเผย factsheets กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ pooled fund เพื่อส่งเสริมพัฒนาระบบข้อมูลตลาดทุนไทย


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทกองทุนหลายนายจ้างที่ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือเดียวกันร่วมกันจัดตั้งกองทุน (pooled fund) เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน และส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลตลาดทุนตามนโยบายของ ก.ล.ต.

ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบในการแก้ไขประกาศ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผย factsheet ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภท pooled fund และต่อมา ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและหารือร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดยเห็นว่า pooled fund เป็นกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนคัดเลือกลงทุนในกองทุนที่บริษัทจัดการได้จัดตั้งและกำหนดนโยบายการลงทุนไว้แล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล factsheet ต่อสาธารณะ คณะกรรมการกองทุนจึงมีข้อจำกัดในการพิจารณาเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกบริษัทจัดการลงทุนและนโยบายการลงทุนที่ดีที่สุดให้แก่สมาชิก รวมทั้งไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือที่ง่ายต่อการเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญ

ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผย factsheet ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภท pooled fund ซึ่งได้เพิ่มข้อกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลทั่วไป และให้รายงานต่อ ก.ล.ต. ภายใน 45 วัน ทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมของทุกปีปฏิทิน

นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ การเพิ่มนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทจัดการปรับปรุง factsheet รวมทั้งเผยแพร่และนำส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต. โดยไม่ชักช้า เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญและตัดสินใจลงทุนได้ง่าย รวมทั้งเพื่อให้มีข้อมูลในการพัฒนาตลาดทุนต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงรูปแบบของ factsheet สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้โดยง่ายในการนำไปเปรียบเทียบและตัดสินใจ เช่น แยกค่าธรรมเนียมกรณีลงทุนผ่านกองทุนรวมออกมาให้ชัดเจน คำนวณผลตอบแทนการลงทุนให้เป็นไปตามมาตรฐาน Global Investment Performance Standards (GIPS) และเพิ่มเติมประเภทนโยบายการลงทุนให้สอดรับกับพัฒนาการของตลาด เป็นต้น

โดยจะเริ่มใช้สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งใหม่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมที่มีนโยบายการลงทุนใหม่ หรือมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งใช้สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการจัดตั้งแล้วทั้งหมดในการจัดทำข้อมูลรอบเดือนธันวาคม 2564 หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564

Back to top button