SO พุ่งกระฉูด 18% “ออลไทม์ไฮ” รับแผนธุรกิจเด่น-ลุ้นผลงานไตรมาส 4 โตต่อเนื่อง

SO พุ่งกระฉูด 18% “ออลไทม์ไฮ” รับแผนธุรกิจเด่น-ลุ้นผลงานไตรมาส 4 โตต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 15:59 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 21.70 บาท บวก 3.30 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(20 ธ.ค.2564) ราคาหุ้นบริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ณ เวลา 15:59 น. อยู่ที่ระดับ 21.70 บาท บวก 3.30 บาท หรือ 17.93% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 85.21 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดเมื่อวันที่ 14.ต.ค.2563

ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 43.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 41.75 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนปี 2564 มีกำไรสุทธิ 126.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 100.73 ล้านบาท  ลุ้นผลงานไตรมาส 4/2564 โตดีและทั้งปีโตต่อเนื่องจากปี 2563กำไรสุทธิอยู่ที่ 139.55 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้(8 ธ.ค. 64) นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่ (SO) เปิดเผยถึงการเป็นหนึ่งในพันธมิตรความร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า หลังได้มีการประกาศความร่วมมือลงนามข้อตกลง (Memorandum of Understanding) จำนวน 5 ฉบับกับ 5 พันธมิตร จากงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY ซึ่งครอบคลุมหลากหลายภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคโทรคมนาคม ภาคสื่อโทรทัศน์ ภาคเทคโนโลยีเอกชน ภาคบริการ และภาคการเงินการธนาคาร เพื่อมุ่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลอย่างเต็มตัวผ่านการสร้างอีโคซิสเต็มของพาร์ทเนอร์ที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดี  MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามเป้าหมายที่บริษัทพยายามหาพันธมิตรโกลบอลคลาวด์ เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น เนื่องจาก SO มีแผนงานที่ชัดเจนว่าต้องการขยายงานไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และในขณะเดียวกันนั้น SO ก็จะได้โอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่จากพันธมิตรต่างประเทศ รวมถึงยังเปิดรับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่มีแนวคิดในการยกระดับแพลตฟอร์มนี้ไปด้วยกัน

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สิ่งที่ SO ทำยังถือเป็นการดำเนินตามแผนงานของปี 64 สู่การเติบโตปี 65 ให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยพยายามไม่มองอุปสรรคจากสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบันว่าเป็นปัญหา แต่กลับคอยมองหาโอกาส พันธมิตร ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือต่างอุตสาหกรรมที่หากสามารถร่วมมือกันทำงานได้อย่างดีก็พร้อมที่จะใช้แนวทางการร่วมกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งแบบการร่วมทุนทางธุรกิจ หรือการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายตั้งแต่บริษัท Outsource, Software Enterprise และProfessional Training

อีกทั้งล่าสุด (15 ธ.ค.64) นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ธุรกิจในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ขอประกาศความสำเร็จในการระดมทุนในกองทุนจากนักลงทุนสถาบันรอบแรกใน “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I”

โดยผนึก 3 องค์กรใหญ่ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ  SO ร่วมลงทุนในฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I กองทุนสตาร์ตอัพกองแรกของไทย ที่เปิดรับนักลงทุนจากภายนอก พร้อมเตรียมเปิดเสนอขายให้กับนักลงทุนรายบุคคลประเภทรายใหญ่พิเศษ (UHNWI) ผ่านกองทุนเปิดกรุงศรี Finnoventure PE Y2033–ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KFFVPE-UI) เปิดเสนอขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 16–22 ธ.ค. 2564 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” เป็นกองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพทั้งในไทยและอาเซียนที่มีศักยภาพ และอยู่ในระดับซีรีส์ A ขึ้นไป โดยมีกรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุน ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป เป็นผู้จัดการทรัสต์ ดูแลบริหารการลงทุน และคัดเลือกสตาร์ตอัพที่จะเข้าลงทุน ซึ่งจะโฟกัสสตาร์ตอัพใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และออโตโมทีฟ (ยานยนต์) โดยจะเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสตาร์ตอัพและกลุ่มนักลงทุนองค์กร ที่ได้เข้ามาร่วมลงทุน

นายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกตลาดทุนของผู้ประกอบการทุกขนาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ตอัพซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  โดยเชื่อว่าการร่วมลงทุนในฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ร่วมกับองค์กรชั้นนำในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และออโตโมทีฟ (ยานยนต์) จะมีส่วนเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ และนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญของประเทศต่อไป

Back to top button