FORTH “ออลไทม์ไฮ” พุ่ง 15% นลท.เก็งงบ Q4/64 โบรกคาดแตะ 231 ลบ.

FORTH “ออลไทม์ไฮ” พุ่ง 15% นลท.เก็งงบ Q4/64 โบรกคาดแตะ 231 ลบ. ขณะที่ยังคงประเมินผลประกอบการในปี 65 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจอีเอ็มเอสและธุรกิจสมาร์ทเซอร์วิส หนุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ก.พ. 2565) ราคาหุ้น บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  FORTH ณ เวลา 11:01 น. อยู่ที่ระดับ 26.75 บาท บวกไป 3.45 บาท หรือขึ้นไป 14.81% โดยทำจุดสูงสุดที่ระดับ 28.25 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 23.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 395.95 ล้านบาท ซึ่งราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงสามารถทำออลไทม์ไฮนับตั้งแต่เข้าตลาด

สำหรับราคาหุ้น FORTH ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องลักษณะ Sideway Up จนสามารถทำออลไทม์ไฮนับตั้งแต่เข้าตลาด ส่วนหนึ่งเป็นการเข้าเก็งกำไรก่อนประกาศงบการเงินไตรมาส 4/2564 และงบปี 2564 ที่คาดว่าจะออกมาดีตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เช่น บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า คาดว่ากำไรสุทธิของ FORTH ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 อยู่ที่ 213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 41.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดรายได้รวมอยู่ที่ 2,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24.2% จากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยบวกเป็นผลจาก (1) ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่น ที่หนุนรายได้อย่างมีนัยสำคัญ จากงานโครงการรถโบกี้ปั้นจั่นกล ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้เพียงครั้งเดียว (One time item) มูลค่า 798 ล้านบาท ขณะที่งานโครงการอื่นๆจะทยอยรับรู้รายได้เมื่อส่งมอบ ได้แก่ งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)  และงานระบบสื่อสารวิทยุเฉพาะกิจระบบดิจิทัล เป็นต้น

(2) ธุรกิจอีเอ็มเอส คาดรายได้ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากงานรับจ้างผลิตยังเติบโตจากคำสั่งซื้อของลูกค้าที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาชิปขาดตลาดทำให้ในส่วนของ Trading ยังถูกจำกัดการเติบโต

(3) ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส คาดทรงตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งถูกจำกัดการเติบโตจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ทำให้คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2564 มูลค่าการใช้บริการผ่านตู้บุญเติมจะฟื้นตัวเพียง 3% จากบริการเติมเงิน e-Wallet และบริการใหม่ๆ ขณะที่มูลค่าการเติมเงินมือถือและจ่ายบิล คาดลดลง 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังคงประเมินผลประกอบการในปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหนุนจาก (1) ธุรกิจอีเอ็มเอส ที่มีปัจจัยหนุนจากการรับจ้างผลิต Power board จากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการเร่งผลิตตู้เต่าบินในปี 2565 และ (2) ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส ที่คาดว่าในปี 2565 จะเห็นการรับรู้รายได้จากบริการต่างๆที่เปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เช่น บริการถอนเงิน การเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น บริการสินเชื่อรายย่อย และบริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์ รวมถึงบริการใหม่ ที่เตรียมเปิดตัว เช่น บริการโอนเงินต่างประเทศ

นอกจากนี้ ตู้เต่าบินที่เป็น New S-curve จะเห็นการขยายจุดบริการแบบก้าวกระโดด โดยมีกระแสตอบรับที่ดี แม้ว่าปัญหาขาดแคลนชิปจะทำให้บริษัทปรับลดเป้าในการตั้งตู้เต่าบินลงเหลือ 4,000-5,000 ตู้ในปี 2565 แต่บริษัทยังคงเป้าที่จะขยาย 20,000 ตู้ ภายใน 2 ปี อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่น ยังต้องลุ้นงานประมูลจากภาครัฐ แต่บริษัทยังมี Backlog กว่า 9,700 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 จะเริ่มมีการเซ็นสัญญามูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท

Back to top button