KEX บวก 4% มั่นใจสิ้นปีนี้งบ “เทิร์นอะราวด์” ปริมาณการขนส่งโต 30% ลุยขยายธุรกิจต่อเนื่อง

KEX บวก 4% มั่นใจสิ้นปีนี้งบ “เทิร์นอะราวด์” หลังโควิด-19 คลี่คลาย ปริมาณการขนส่งโต 30% ลุยขยายธุรกิจต่อเนื่อง เตรียมคลอดบริการส่งด่วน Kerry XL สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ คาดชัดเจนช่วงปลายปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(6 ก.ค.2565) บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ณ เวลา  11:05 น. อยู่ที่ระดับ 23.50 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 4.44% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 126.10 ล้านบาท

ด้านนายอิศรินทร์ ภัทรมัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการลงทุน KEX เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าภายในสิ้นปี 2565 ภาพรวมผลการดำเนินงานจะพลิกกลับมามีกำไร (เทิร์นอะราวด์) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีผลขาดทุน 491.09 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กลับสู่ภาวะปกติ และสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันด้านราคาลดลง และมีการขยายธุรกิจ หรือร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้บริษัทยังคงมั่นใจว่าปี 2565 ปริมาณการขนส่ง (วอลุ่ม) จะขยายตัวได้ 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้  และยังสามารถปรับราคาได้คล่องขึ้นในแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่บริการ พร้อมตั้งเป้าหมายลดต้นทุนต่อหน่วยไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนบริการแพลตฟอร์มขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Express Delivery Platform) หรือ KERRY COOL ยังเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะโซนภาคใต้ ที่มีความต้องการใช้บริการค่อนข้างมาก และบริการส่งด่วน Kerry XL สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ จะเห็นบริการที่ชัดเจนขึ้นช่วงปลายปี 2565 นี้

ขณะเดียวกันในระยะ 3-5 ปี นับจากนี้  บริษัทยังคงเน้นกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า หรือรักษาความเป็น “ผู้นำจัดส่งพัสดุด่วน” ของประเทศไทย อย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.การเติบโตของกำไร  2.มีอัตราการเติบโต (CAGR) 20- 30% ต่อปี 3.มีรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมไม่น้อยกว่า 20% ของพอร์ต และ 4.การเข้าควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) และร่วมมือทางธุรกิจ (JV)

สำหรับปัจจุบัน KEX มีเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด หรือบริการครอบคลุม 99.99%  โดย ณ เดือน มี.ค. 2565 มีจุดบริการรวม 31,000 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน พร้อมทั้งมีศูนย์กระจายพัสดุ 1,400 แห่ง และมียานพาหนะรวม 20,000 คัน ด้วยอัตราการส่งของถึงปลายทาง 97% และมีอัตราการตีกลับเพียง 1.5% ส่วนราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์นั้น บริษัทได้มุ่งเน้นปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังไม่มีหนี้ และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำประมาณ 0.73  เท่า รวมถึงมีสภาพคล่องที่ดี

“ด้านการแข่งขันในตลาด โดยเรื่องของราคาบริการ ปัจจุบันคู่แข่งหลายรายมีการปรับราคาขึ้น ทำให้การแข่งขันไม่แรงมาก และมองว่าประเทศไทยมีพื้นที่ขนส่งขนาดกลางไม่ได้ใหญ่เท่าประเทศจีน ดังนั้นผู้เล่นที่จะอยู่ได้ในตลาดควรมีแค่ 2 รายในระยะกลาง-ยาว ซึ่งระหว่างนั้นบางรายอาจมีการปิดกิจการไปบ้าง โดยการเปลี่ยนแปลงของผู้เล่นในตลาดน่าจะชัดเจนขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้านี้“

 

Back to top button