จับตา 6 หุ้น “อิเล็กฯ-ไอที” เสี่ยงรูด! สหรัฐจำกัดส่งออก “ชิ้นส่วนฯ-ชิป”

จับตา 6 หุ้น “อิเล็กฯ-ไอที” เสี่ยงรูด! สหรัฐจำกัดส่งออก “ชิ้นส่วนฯ-ชิป” อาทิ HANA-KCE-SIS-SYNEX-COM7-SAT


บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(12 ต.ค.65) ว่า จากประเด็นข่าวทางการสหรัฐฯได้ออกข้อจำกัดการส่งออกชิ้นส่วน Semiconductor และเครื่องมือผลิต chip ให้กับบริษัทสัญชาติจีน ทำให้บริษัทในสหรัฐอย่าง KLA Corp, Research Corp, Applied Materials Inc (Supplier สำหรับอุปกรณ์ผลิต chip) ถูกสั่งให้หยุดส่งสินค้าให้กับบริษัทสัญชาติจีน

โดยมีมุมมองเป็นลบจากประเด็นข่าวดังกล่าวจากความเสี่ยงจากการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของทางการสหรัฐต่อบริษัทในอุตสาหกรรม Semiconductor ในจีน จะทำให้ความเสี่ยงจากประเด็น Chip shortage ยืดเยื้อออกไปจากเดิม จึงเป็นความเสี่ยงต่อคำสั่งซื้อในอนาคตของในกลุ่ม Electronics โดยหุ้นที่จะได้รับผลกระทบคือ HANA (แนะถือเป้า 47.00 บาท) และ KCE (แนะถือเป้า 58.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าในจีนที่ 20% และ 11% ของยอดขาย ตามลำดับ โดยคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม Electronics ไว้ที่ “เท่ากับตลาด”

สำหรับกลุ่มผู้ขายสินค้า IT ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายในอนาคตที่จะลดลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนขายแบรนด์ของจีน โดยประเมินผลกระทบต่อผู้ขายสินค้า IT เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ SIS, SYNEX, COM7 ทั้งนี้กลุ่ม IT seller คงน้ำหนักการลงทุน “ต่ำกว่าตลาด” Top-pick คือ SYNEX (แนะซื้อเป้า 25.00 บาท)

ด้านกลุ่ม Automotive ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อ supply chain ในการผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่ายรถยนต์สามารถปรับแผนหันไปใช้โรงงานผลิตจากแหล่งอื่นได้ รวมถึงการใช้ชิปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งมีผู้ผลิตได้หลายรายในโลกมากขึ้น ทำให้ผลกระทบอาจไม่มากเหมือนในอดีต ทั้งนี้ กลุ่ม Automotive เราคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “เท่ากับตลาด” โดยหุ้น Top-pick ได้แก่ SAT (ซื้อ/เป้า 24.50 บาท)

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(11 ต.ค.65) ราคาหุ้นของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันร่วงลงถึง 8.3% ในวันอังคาร ส่วนราคาหุ้นของ Samsung Electronics Company และ Tokyo Electron Ltd. ต่างก็ปรับตัวลดลงท่ามกลางความกังวลต่อมาตรการของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้บริษัททั่วโลกหยุดการส่งออกไปยังจีน

การเทขายหุ้นเทคโนโลยีในวันอังคารที่ผ่านมายังส่งผลต่อตลาดเงินตราด้วยเช่นกัน โดยเงินวอนเกาหลีตกลง 1.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไต้หวันดอลลาร์ร่วงลง 0.7% ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ทรุดลงอย่างหนัก

ขณะที่นักวิเคราะห์จากมอร์นิ่งสตาร์ คาดว่าความไม่แน่นอนระยะสั้นต่อดีมานด์การผลิตจะสูงขึ้น เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดซอฟต์แวร์เพื่อส่งมอบบริการผ่านเครือข่ายด้วยการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งข่าวนี้จะยิ่งทำให้ความรู้สึกของตลาดแย่ลงจากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากดีมานด์ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว

มาตรการของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมาก สำหรับบริษัทที่มีโรงงานผลิตในประเทศจีน และที่ไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกัน จะต้องผ่านกฎเกณฑ์เพิ่มเติมซึ่งรวมถึงการได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมาตรการนี้จะสร้างผลกระทบไปตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อหุ้นเทคโนโลยีที่ต้องเผชิญกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีน

หลายฝ่ายคาดว่า การประกาศมาตรการควบคุมของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะขยายวงกว้างไปยังประเทศต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตาม โดยหลังจากการประกาศ ดัชนีกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ร่วงลงไปถึง 9% ภายในสองวันทำการจนแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ในขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวันปิดทำการตามวันหยุดประจำปี

ด้านหุ้นซัมซุงปรับตัวลดลงมากถึง 3.9% โดยเป็นการลดลงที่มากที่สุดในปีนี้ ส่วน SK Hynix Inc. ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมมโมรี่ชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีโรงงานผลิตในจีนที่ส่งออกชิ้นส่วนไปทั่วโลกปรับตัวลดลง 3.5% ก่อนจะรีบาวด์กลับขึ้นมาในระดับคงที่ได้ ส่วนหุ้นผู้ผลิตชิปของจีนยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในวันอังคาร โดยมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า มาตรการจำกัดอย่างกว้างขวางในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) และการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในจีนอาจถูกดิสรัปได้

การเทขายหุ้นเทคโนโลยีในขณะนี้ทำให้มูลค่าในกลุ่มหุ้นไมโครชิปทั่วโลกหดหายไปแล้วกว่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนับจากราคาปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

โนมูระ โฮลดิงส์ ระบุว่า มาตรการใหม่นี้จะทำให้จีนถดถอยลงอย่างมาก และยังเป็นข่าวร้ายของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

ด้านสื่อรัฐบาลจีน และเจ้าหน้าที่ออกมาตอบโต้การกระทำของนายไบเดน โดยเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาก่อนจะกระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์ว่าจีนอาจมีมาตรการตอบโต้ออกมา

ทั้งนี้ การออกมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นความต้องการที่จะหยุดจีนไม่ให้พัฒนาอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง และเสริมศักยภาพทางการทหาร โดยการจำกัดการส่งออกครั้งนี้เพ่งเล็งไปยังชิปบางประเภท เช่น ชิปที่ใช้ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดด้านกฎเกณฑ์สำหรับการจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทจีน

Back to top button