“อนุสรณ์” แนะ กนง.ชะลอขึ้น “ดอกเบี้ย” เหตุไทยไร้ภาวะเงินตึงตัว

“อนุสรณ์ ธรรมใจ” ระบุ ไทยไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย เหตุเพราะยังไม่ได้มีปัญหาภาวะเงินตึงตัวเหมือนต่างประเทศที่ต้องคุมเงินเฟ้อ


นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโลกดูจะยังไม่คลี่คลาย แม้จะมีสัญญาณดีเล็กๆ ที่เงินฝากและเงินลงทุนจากธนาคารขนาดใหญ่ทยอยไหลย้อนกลับไปยังธนาคารกลางและธนาคารเล็กบ้างแล้ว ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อระบบธนาคารกลางเริ่มกระเตื้องขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาหนึ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ จะเกิดภาวะเงินตึงตัวจากปัญหาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโลกหรือไม่ และการดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการเงิน จะมีผลต่อภาวะเงินตึงตัวในอนาคตหรือไม่ เพราะตอนนี้หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย ยังอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้

ขณะเดียวกันที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ขึ้นมาได้ในบางประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ต่อเงินทุนมีมากกว่าอุปทานของเงินทุน เป็นภาวะที่มีความต้องการสินเชื่อและเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเงินและสินเชื่อมีจำกัด ครัวเรือนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ขณะที่ในบางประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ธนาคารในประเทศก็ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนไม่ได้สินเชื่อ จะไปกู้หรือหาแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ ก็เกิดปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินโลกขึ้นมาอีก

ขณะที่ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง เกิดความยากลำบากในการหาเงินทุน การที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่นและอื่นๆ ประสานกันในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกเมื่อหลายวันก่อนเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดสภาพคล่องและเงินตึงตัว

สำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีปัญหาภาวะเงินตึงตัวขณะนี้ หากพิจารณาจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋ว BE อยู่ที่ประมาณ 91-92 ประกอบกับยังมีเงินทุนไหลเข้าอยู่ ดุลการชำระเงินยังเป็นบวกอยู่ ในระยะสั้นยังไม่น่าวิตกกังวลอะไร แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลตอบแทนแท้จริงจากการฝากเงินธนาคารยังคงติดลบและรายได้แท้จริงลดลงจากอัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง ทำให้การออมแท้จริงโดยรวมในประเทศลดลง

ทั้งนี้ การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะต้องดำเนินการในลักษณะ กฎ (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้วิจารณาญาณ (Discretionary Policy) หมายความว่า ผู้ทำนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงเป้าหมายของนโยบาย โดยการตั้งเป้าหมายชัดเจน และระบุถึงเครื่องมือของการทำนโยบาย

โดยเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้นโยบายการเงินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือและกลไกส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงิน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่ไปรบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้ หนี้สินเทียบกับผลผลิตในทุกระดับของระบบเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง ทั้งภาคครัวเรือน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินโลก จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างประเทศ สอดคล้องกับลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคต่างประเทศสูง อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง และอัตราการขยายตัวของการนำเข้าของประเทศคู่ค้าหลักลดลง การที่ค่าเงินบาททำหน้าที่เป็นตัวรองรับผลกระทบจากภายนอก หรือเป็น shock absorber ได้ดีในระดับหนึ่ง จึงควรปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามพลวัตของปัจจัยภายในภายนอก

Back to top button