SGC ร่วง 19% เซ่นงบไตรมาส 1 พลิกขาดทุน 368 ล้านบาท เจอพิษตั้งสำรองหนี้

SGC ร่วง 19% เซ่นงบไตรมาส 1/66 พลิกขาดทุน 368 ล้านบาท เหตุหลักจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจํานวน 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,852%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค. 66) ราคาหุ้น บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ล่าสุด ณ เวลา 12:21 น. อยู่ที่ระดับ 2.18 บาท ลบไป 0.52 บาท หรือ 18.66% สูงสุดที่ระดับ 2.30 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.14 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 84.32 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้น SGC ปรับตัวลงนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังบริษัทฯรายงานงบไตรมาส 1/66 บริษัทพลิกขาดทุนสุทธิ 368.36 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 155.54 ล้านบาท สาเหตุหลักจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจํานวน 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,852% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 40 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้บริษัทยังมีในส่วนของค่าใช้จ่าย 176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 152 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าพาหนะ และค่าภาษีอื่นๆ สอดคล้องกับการขยายพอรต์สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนทางการเงิน 157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 115 ล้านบาท โดยสัดส่วนต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรถทําเงินมากกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ

ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินดังกล่าวเกิดจากการเงินกู้ยืมจากบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SINGER โดยต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากการขยายตัวของการใช้วงเงินมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีหากมาดูรายได้รวมจะมีการเติบโตแข็งแกร่งเป็นจํานวน 658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163 ล้านบาท หรือ 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืม

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเช่าซื้อจํานวน 314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้จากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โตขึ้นจากความสามารถในการขยายตลาดของบริษัท ทั้งจากช่องทาง SINGER และบริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (JMB)

รวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อรถทำเงินจำนวน 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยรถทำเงินอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความสามารถในการขยายตลาดกลุ่มลูกค้ารถทำเงินที่มีรายได้ดอกเบี้ยอื่นจํานวน 7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จากการมองหาโอกาสในการขยายสายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น และพิจารณาว่าสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถเพิ่มศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงของพอรต์สินเชื่อโดยรวมได้

Back to top button