BA บวกแรง 4% โบรกอัพกำไรปีนี้แตะ 1.4 พันล้าน พ่วงเป้าใหม่ 20 บ.

BA บวกแรง 4% โบรกอัพกำไรปีนี้แตะ 1.4 พันล้านบาท พ่วงเป้าใหม่ 20 บาท รับต่างชาติ” แห่เข้าไทย ล่าสุด 5 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 10 ล้านคน เม็ดเงินสะพัดแล้วกว่า 4.28 แสนล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ณ เวลา 16:14 น. อยู่ที่ระดับ 14.70 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 3.52% สูงสุดที่ระดับ 14.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 14.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 176.84 ล้านบาท

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า BA รายงานกำไรสุทธิไตรมาสที่ 1/2566 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 7 ปีที่ 875 ล้านบาท (เทียบกับ 5 พันล้านบาท ใน Q1/2562 สูงเกินคาด ขณะที่กำไรปกติยังไม่แตะระดับสูงสุด มีโอกาสที่ผู้โดยสารนานาชาติในเส้นทางเกาะสมุยจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นค่าบัตรโดยสารและค่าบริการผู้โดยสาร (PSC)

โดยปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 20 บาท จากเดิม 18 บาท เพื่อสะท้อนแนวโน้มธุรกิจสายการบินที่ดีขึ้น BA มีการซื้อขายในระดับการประเมินมูลค่าที่ต่ำเพียง 17 เท่า ของ P/E เชื่อว่าหุ้นมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้จากการถือหุ้นของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กว่า 5.21% และสนามบินสมุยที่มีการประเมินมูลค่าในระดับสูง ในขณะที่ธุรกิจสายการบินของ BA ไม่น่าจะฉุดกำไรอีกต่อไป แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 2566 ขึ้น 49% เป็น 1.4 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนเป้าประมาณการของผู้บริหารล่าสุดที่คาดอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร หรือ Load Factor ในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 76-77% (จากเดิม 73%) และค่าบัตรโดยสารเฉลี่ยที่ 3,500 บาท (จากเดิม 3,400 บาท)

อย่างไรก็ตามคงสมมติฐานปริมาณผู้โดยสารไว้ที่ 4.4 ล้าน คิดเป็น 75% ของระดับก่อนโควิด ประมาณการของบริษัทมี Upside อยู่ที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ pent-up demand ที่สูงเกินคาดของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10-15% ของรายได้ในปี 2562

BA เป็นหนึ่งในหุ้นท่องเที่ยวไม่กี่ตัวที่สามารถรายงานกำไรปกติ Q1/66 สูงกว่าระดับใน Q1/62 แม้ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศจะฟื้นตัวเป็นเพียง 60% ของระดับก่อนโควิด โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญอยู่ที่ Load Factor ที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 87% และค่าบัตรโดยสารที่สูงกว่าระดับก่อนโควิดอยู่ 8% ในที่ประชุมนักวิเคราะห์ ผู้บริหารให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทั้ง Load Factor และค่าบัตรโดยสารยังอยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิดใน Q2/66 แม้ว่าจะเป็นฤดูที่ซบเซาที่สุดของปี

ทั้งนี้ แม้ว่าผลประกอบการ Q1/66 จะออกมาดี ตลาดยังคงกังวลว่า pent-up demand จะสิ้นสุดลง ทำให้ Load Factor และค่าบัตรโดยสารอาจกลับสู่ระดับปกติในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดีบริษัทเห็นต่าง และเชื่อว่ากระแสกำไรของ BA น่าจะดีต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

เนื่องจากค่าบัตรโดยสารเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ได้แก่ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม ,แคนาดา, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ฮังการี, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี ได้ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับก่อนโควิดถึงประมาณ 25% แต่ยังต่ำกว่าราคาค่าเชื้อเพลิงอากาศยานซึ่งยังอยู่ที่ประมาณ 40-50% เหนือระดับก่อนโควิด

ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารต่างประเทศของสนามบินสมุยฟื้นตัวเป็นเพียง 50% ของระดับก่อนโควิดใน Q1/66 ซึ่งหมายความว่า BA ยังมีโอกาสที่ทั้งค่าบัตรโดยสารและค่าบริการผู้โดยสารจะฟื้นตัว (BA เรียกเก็บเงิน 700 บาทจากผู้โดยสารในเที่ยวบินต่างประเทศเทียบกับ 300 บาท สำหรับผู้โดยสารในประเทศ) ทั้งนี้ BA วางแผนกลับมาให้บริการในเส้นทางสมุยไปยังฮ่องกง เฉินตู และฉงชิ่ง ในเดือน ก.ค. 2566 ด้านราคาค่าเชื้อเพลิงอากาศยานอยู่ในแนวโน้มขาลงจากค่าเฉลี่ยที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปัจจุบัน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เพิ่มมูลค่าเหมาะสมที่ 14.2 บาท เพิ่มจาก 13.8 บาท แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในระยะสั้นในช่วงนี้ ส่วนความล่าช้าในการลงทุนที่สนามบินอู่ตะเภา คาดการณ์การดำเนินการจะไม่มีความคืบหน้าจนกว่ารัฐบาลใหม่จะทำงาน

ด้านนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค. 66 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 10,378,457 คน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วกว่า 428,000 ล้านบาท โดยประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 1,606,373 คน จีน 1,098,604 คน รัสเซีย 734,995 คน เกาหลีใต้ 627,760 คน และอินเดีย 583,319 คน

ทั้งนี้ ททท. เชื่อมั่นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 66 จะกลับสู่ 80% ของรายได้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 62 โดยเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ททท. เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมตลาดอย่างเต็มกำลัง เพื่อผลักดันสู่เป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2.38 ล้านล้านบาท โดยสำหรับนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ เร่งเครื่องด้วย Great Resumption Episode II ประกอบด้วย 5 กิจกรรมส่งเสริมตลาดหลัก ได้แก่

1.China is back มุ่งเจาะกลุ่มตลาดใหม่ในจีน พร้อมเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน ควบคู่กับการส่งเสริมการเดินทางทางบก

2.7-Digit Target เน้นกลุ่มตลาดศักยภาพในประเทศที่นักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคน

3.Color your life by Amazing Thailand จัด Consumer Fair นำ Soft Power ไทยเข้าไปอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

4.Responsible Tourism ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

5.Second Tier, second to none เจาะกลุ่มเมืองรองในตลาดระยะใกล้ สำหรับตลาดระยะไกล เน้นการเพิ่มความถี่และที่นั่งสายการบินสู่เมืองหลักและเมืองรองในประเทศไทย ร่วมทำงานกับพันธมิตร เพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ในเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงเชื่อมโยงสู่เมืองรองในประเทศไทย และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบ all-year round

นอกจากนี้ ททท. ยังมุ่งนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ Luxury Experience ในกรุงเทพฯ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต รวมถึงสินค้าและบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เหมาะกับกลุ่มครอบครัวในจังหวัดเชียงใหม่ และการพักผ่อนที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน ควบคู่ไปกับการมุ่งนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ การท่องเที่ยวชุมชนด้วยจักรยานที่คุ้งบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ การท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่อุ้มผาง จังหวัดตาก การท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ที่จุดหมายปลายทางคาร์บอนต่ำ เกาะหมาก จังหวัดตราด และ Little Amazon คลองสังเน่ห์ จังหวัดพังงา

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ททท. เดินหน้ายกระดับห่วงโซ่อุปทาน Shape Supply สู่เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) ซึ่งต่อยอดจาก 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ โดยสร้างมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Tourism Accelerating Rating (STAR) ให้ผู้ประกอบการนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มประเภทรางวัล Low Carbon & Sustainability ในรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการนำแพลตฟอร์มออนไลน์ มาช่วยในการบริหารจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงแรม และแหล่งท่องเที่ยว

Back to top button