จังหวะเก็บ JMT โบรกชี้งบ Q2 ฟื้น ชูเป้า 60 บาท อัพไซด์ 59%

JMT ร่วง 3% โบรกชี้จังหวะเก็บ หลังก่อนหน้านี้ราคาปรับตัวลงมาต่อเนื่อง มองผลงานไตรมาส 2 เริ่มฟื้น ให้ราคาเป้า 60 บาท อัพไซด์สูง 59%


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (22 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ณ เวลา 15:14 น. อยู่ที่ระดับ 37.75 บาท ลบ 1 บาท หรือ 2.58% สูงสุดที่ระดับ 39.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 609.76 ล้านบาท

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดกำไรสุทธิของ JMT ในไตรมาส 2/66 จะอยู่ที่ 531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน อิงจากยอดตาม เก็บเงินสดที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 15% จากไตรมาสก่อน และ 66% จากปีก่อน (โดยใช้สมมติฐานว่ายอดเก็บเงินสดของ JKAMC จะช่วยหนุนการเติบโต) และรายได้ equity income จาก JKAMC ที่ 145 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 133 ล้านบาทในไตรมาส 1/66)

ทั้งนี้ ราคาหุ้น JMT ปรับลดลงมาแล้วถึง 42% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน และ underperform ดัชนี SET ถึง 35% เนื่องจากการเติบโตของกำไรชะลอตัวลง ซึ่งฝ่ายวิจัยคิดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันดูน่าสนใจมากขึ้น โดยคิดเป็น PE ปี 66F/67F ที่ 28/22 เท่า และเป็นจังหวะดีที่จะเข้าซื้อเนื่องจากคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/66 จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และประเมินราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 60 บาท (PE ที่ 38.5 เท่า)

โดย JMT เปิดเผยว่า ได้ทำข้อตกลงที่จะซื้อหนี้เสีย (หนี้ไม่มีหลักประกัน) ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จากธนาคารชั้นนำห้าแห่งในไตรมาส 2/66 และ NPLs ก้อนนี้จะถูกบันทึกงบการเงินของ JMT โดยในไตรมาส 1/66 JMT ซื้อ NPLs มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ที่ราคาประมาณ 1.3 พันล้านบาท และบริษัทเผยว่าราคาของ NPL ที่เข้ามาในไตรมาส 2/66 จะมีราคาต่ำกว่าที่ซื้อเข้ามาในไตรมาส 1/66

ดังนั้นหากใช้สมมติฐานว่าบริษัทซื้อ NPLs ก้อนใหม่เข้ามาที่ราคา 10% of ของface value (FV) JMT จะต้องใช้เงินประมาณ 7 พันล้านบาท ในการซื้อ NPLs ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของปีนี้ (จากที่ตั้งงบทั้งปีเอาไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท) คาดว่าในท้ายที่สุดยอดซื้อ NPL ของบริษัทในปีนี้อาจจะสูงเกินเป้า และสูงกว่ายอด NPL ที่ซื้อเข้ามาในช่วงสองที่ผ่านมาที่ 8.7 พันล้านบาทในปี 64 และ 4.6 พันล้านบาท ในปี 65

ขณะที่สินทรัพย์ก้อนใหญ่ที่เพิ่มเข้ามาในพอร์ตของ JMT จะทำให้บริษัทตามเก็บเงินสดและบันทึกเป็นรายได้ ของ JMT ได้มากขึ้น ทั้งนี้ หากไม่รวม JKAMC ยอดเก็บเงินสดของ JMT มีแนวโน้มลดลงมาตลอดห้า ไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ซื้อเข้ามามีราคาไม่ถูก

โดยสัดส่วนกำไรสุทธิ/ยอดเก็บเงินสด (net profit/cash collection ratio) ลดลงเหลือ 23% จาก 30% ในปี 64 และ 28% ในปี 65 ดังนั้นการที่จะมีสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาใน JKAMC ในไตรมาสต่อ ๆ ไป จะทำให้ JMT ตามเก็บเงินสดได้มากขึ้น ซึ่งคาดกระแสเงินสดการเก็บหนี้ 10.5/13 พันล้านบาทในปี 66/67 ซึ่งในจำนวนนี้กระแสเงินสดจาก JKAMC อยู่ที่ 34%/47% ตามลำดับ

 

Back to top button