GUNKUL ยันไม่ได้รับผลกระทบกรณีกองทัพบกถอนตัวชิงโซลาร์ฯ

GUNKUL คาดรายได้ปีนี้อยู่ที่ 4.7 พันลบ. หรือโต 50% จากปีก่อน ตั้งเป้ารายได้ปี 59 โต 25% มาที่ 5.8 พันลบ. และพุ่งเป็น 7.65 พันลบ. ในปี 61 เผยกรณีกองทัพบกถอนตัวเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม นั้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้เข้าร่วมเสนอขอใบอนุญาตร่วมกับหน่วยงานสหกรณ์ชุมชน


นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 59 เติบโต 25% จากปีนี้ หรือมาอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ปีนี้คาดว่าจะปิดที่ 4.7 พันล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ 4.9 พันล้านบาทเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าในพม่า 25 เมกะวัตต์เลื่อนจ่ายไฟไปเป็นปีหน้า

สำหรับในปีหน้าบริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโซลาร์ฟาร์มรางเงินจำนวน 58 เมกะวัตต์เข้ามาเต็มปี และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 เฟส เฟสแรก 10 เมกะวัตต์ COD วันที่ 28 ก.พ.59 ส่วนเฟส 2 จำนวน 50 เมกะวัตต์จะ COD ในเดือน ก.ค.59 โดยปีหน้ารายได้จากโครงการลมจะเข้ามาราว 550 ล้านบาท แต่จะรับรู้เต็มปีในปี 60 ซึ่งจะสร้างรายได้ปีละ 800-900 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากโครงการ Gas Engine ในประเทศพม่าจำนวน 25 เมกะวัตต์ และ โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 30 เมกะวัตต์ที่บริษัทมั่นว่าจะได้รับใบอนุญาตในการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งทางการกำหนด COD ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.59

ขณะที่ปี 61 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะพุ่งเป็น 7.65 พันล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี(EBIT) อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมไม่ต่ำกว่า 550 เมกะวัตต์ จากในปี 60 คาดว่าจะมีรายได้ 6.7 พันล้านบาท และมี EBIT ราว 1.9 พันล้านบาท โดยบริษัทจะพยามเร่งการจำหน่ายไฟฟ้าและหาเพิ่มใบอนุญาตในมืออย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบัน บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 322.3 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าจนถึงปี 61 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าที่รางเงิน จำนวน 87 เมกะวัตต์  ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 170 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง 65.25 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/58 บริษัทคาดว่าจะมีรายไดราว 800-1,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการ COD โครงการโซลาร์ฟาร์มรางเงิน จำนวน 87 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 67% หรือคิดเป็นจำนวน 58 เมกะวัตต์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 450 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานก่อสร้าง

สำหรับกรณีกองทัพบก ได้ประกาศขอถอนตัวเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯนั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้เข้าร่วมเสนอขอใบอนุญาตร่วมกับหน่วยงานสหกรณ์ชุมชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพบก และแม้ว่าจะเลื่อนการจับสลากโครงการดังกล่าว จากเดิมวันที่ 15 ธ.ค.58 ไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค.58 แต่บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับ PPA จำนวน 30 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 50 เมกะวัตต์

“เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางกองทัพบก กองทัพเรือ หรือตำรวจ ซึ่งเรามีการได้เข้าร่วมกับหน่วยงานสหกรณ์ชุมชน ตอนแรกเรามีการยื่นไป 170  เมกะวัตต์  ผ่านคุณสมบัติมา 50 เมกะวัตต์ โดยเรามั่นใจว่าจะได้ PPA 30 เมกะวัตต์ แน่นอน แต่ตอนนี้เราก็สอบถามไปถืออีก 120  เมกะวัตต์ที่เราไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร ซึ่งจริงๆโครงการของเราไม่ได้อยู่บริเวณผังเมืองไม่น่าจะได้รับผลกระทบ”นายสมบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จำนวน 41.5  ล้านหุ้น เป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท จากการเสนอขายในราคา 24 บาท/หุ้น เปิดขาย 1 ก.พ.59 ทั้งนี้เงินที่ได้รับจำนำเป็นลงทุนโครงการพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นประมาณ 10% ซึ่งหลังจาก SCB เข้ามาถือหุ้นจะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเป็น 13% และในอนาคตคาดว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นจากนักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ราคาหุ้นของ GUNKUL มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ SCB เปิดเผยว่าจะมีการถือหุ้นระยะยาวเพื่อการเติบโตในอนาคต         

โดยบริษัทมีเงินลงทุนเพียงพอ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้รับเงินจากการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีเงินเข้ามาอีก 2.5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินได้อีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพราะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E)1.07 เท่า

Back to top button