
THCOM เด้ง 3% รับข่าวลงนาม GGC ศึกษา “สวนปาล์ม” กักเก็บคาร์บอน
THCOM บวก 3% รับงานใหม่กลุ่ม “ปตท.” เซ็นเอ็มโอยู GGC ตรวจสอบ-ประเมินปริมาณกักเก็บคาร์บอนในสวนปาล์มเตรียมทำคาร์บอนเครดิต แย้มทิศทางไตรมาส 3 เดินหน้าคว้างาน USO เฟส 3 ของกสทช. มูลค่า 5.8 พันล้านบาท เพิ่มรายได้ต่อเนื่องในปี 68
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (23 พ.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 8.50 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 2.41% สูงสุดที่ระดับ 8.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 8.30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 7.31 ล้านบาท
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM เปิดเผยว่า บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ร่วมกับ THCOM ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อศึกษาแนวทางการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบพื้นที่สวนปาล์มและประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ ร่วมพัฒนาการเก็บข้อมูลพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนจากการปลูกปาล์มน้ำมัน ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว
โดย THCOM มีบทบาทในการนำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีอวกาศ “CarbonWatch” มาใช้ต่อยอดและพัฒนาในการตรวจสอบและประเมินการกักเก็บคาร์บอนในสวนปาล์ม ซึ่งมี GGC เป็นผู้เชี่ยวชาญการให้ข้อมูลสนับสนุนและติดตามพื้นที่ต่าง ๆ ในการทำคาร์บอนเครดิต โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ผลิตมาจากปาล์มน้ำมัน และพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยโดยการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
สำหรับความร่วมมือกับบริษัทในเครือ PTT เป็นเพียงจุดเริ่มต้น บริษัทเตรียมขยายงานไปยังบริษัทรายอื่น ๆ ในเครือปตท. โดยไทยคมจะได้นำบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech ด้วยแพลตฟอร์ม “CarbonWatch” มาประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สวนปาล์ม หลังจากในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มดังกล่าวประสบความสำเร็จในการได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้เป็นเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมรายแรกของประเทศไทย
ดังนั้น เป้าหมายของการร่วมมือกับ GGC จึงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความยั่งยืนและขับเคลื่อนให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศอีกด้วย
สำหรับแพลตฟอร์ม CarbonWatch นับเป็นการตอกย้ำความสําเร็จในการเป็นผู้นําด้าน Space Tech เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากเราจะให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอีกด้วย เช่นเดียวกับการผนึกกำลังกับ GGC ในครั้งนี้
จึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เราจะได้ยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มของไทยให้ยั่งยืนด้วยบริการด้าน Space Tech ของไทยคม และช่วยขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตรในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ได้ต่อไป
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง GGC และ THCOM ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความยั่งยืนถือเป็นบริบทใหม่ที่ท้าทายใหม่ของประเทศไทยและเป็นบริบทของโลกที่มีความสำคัญ ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GGC ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนพร้อมสร้างสมดุลระหว่าง สิ่งแวดล้อม สังคม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Environment Social Governance (ESG) มีการบริหารจัดการความยั่งยืนที่เข้มแข็ง โดยได้รับการรับรองการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล เช่น CDP Climate ระดับ B และ S&P Global Yearbook Member โดยได้คะแนนอยู่ในลำดับที่ 4 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ตอกย้ำการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ “TO BE A LEADING GREEN CHEMICAL COMPANY BY CREATING SUSTAINABLE VALUE” หรือ “เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน”
นายปฐมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาส 3/2568 นี้ ไทยคมจะเข้าร่วมประมูลโครงการ USO เฟส 3 (เน็ตชายขอบ) หรือ แผนการจัดให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) เป็นโครงการที่ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) อนุมัติวงเงิน 5,862 ล้านบาท
“ผมมั่นใจว่าเราจะได้ส่วนแบ่งจากงานนี้มากที่สุด เนื่องจากในส่วนที่ต้องใช้ดาวเทียม มีเพียงไทยคมเจ้าเดียว ส่วนการติดตั้ง ไฟเบอร์ออฟติก (Fiber optic) หรือใยแก้วนำแสงและระบบไอที เราพร้อมที่จะร่วมประมูลด้วย” นายปฐมภพ กล่าว
โดยที่ผ่านมา USO เฟส 1-2 ใช้แต่ระบบดาวเทียมเพียงอย่างเดียว แต่เฟส 3 ไม่ใช่มีเฉพาะดาวเทียมเท่านั้น แต่ไทยคมก็มีความพร้อมที่จะดำเนินงานอย่างครบวงจร ซึ่งส่วนแรก คือ งานติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จะสามารถรับรู้รายได้ภายในปีนี้ เนื่องจากไทยคมพร้อมทยอยส่งมอบงานในไตรมาส 4/2568