
LEO บวก 4% ลุยขยายธุรกิจใหม่ ดันรายได้ปีนี้โต 20% ตามเป้า
LEO วิ่ง 4% ลุยแผนยุทธศาสตร์ "LEO Go Green" รุกขยายธุรกิจใหม่ดันกำไรขั้นต้นโตต่อเนื่อง พร้อมเสริมแกร่งโลจิสติกส์ทางรางไทย-จีน ดันปีนี้รายได้โต 20%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 พ.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO ณ เวลา 10:33 น. อยู่ที่ระดับ 2.26 บาท บวก 0.08 บาท หรือ 3.67% สูงสุดที่ระดับ 2.32 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.24 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.08 ล้านบาท
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2568 จะยังคงเติบโตต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ “LEO Go Green” ที่มุ่งเน้นการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และขยายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics รวมบริการด้าน Distribution Center/Warehouse ให้เติบโต 15-20% ได้ตามเป้า
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ขึ้นเป็น 30-35% ของรายได้รวม โดยบริษัทมีแผนต่อยอดการให้บริการด้าน Distribution Center/Warehouse รวมถึงการให้บริการโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจใหม่ ๆ
สำหรับในปี 2568 LEO ยังเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจในกลุ่ม Freight โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทั้งทางเรือและทางอากาศไปยังประเทศอินเดียและประเทศในกลุ่ม MIDDLE EAST ที่เป็นตลาดมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง และยังมีโอกาสในการขยาย volume การส่งออกอีกมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการสินค้าคุณภาพดีจากต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจ Non-Freight อื่น ๆ ของบริษัท โดยเฉพาะในไตรมาส 2 นี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ ซึ่งตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศจีน
โดยบริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ LEO ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพาณิชย์เมืองคุนหมิง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแผนการค้าสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนลูกสดและทุเรียนแช่แข็งผ่านช่องทางขนส่งทางราง ไทย-ลาว-จีน
ที่ล่าสุด ได้ให้การต้อนรับคณะผู้สั่งซื้อนำเข้าทุเรียนจากเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และตัวแทนจากสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของเมืองคุนหมิง ( E-Commerce Cross Border Association) และสมาคมการผ่านพิธีการศุลกากรของเมืองคุนหมิง ลงพื้นที่ศึกษากระบวนการตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว คัดแยก ณ สวนทุเรียน และการกำกับดูแลงานแปรรูป และบรรจุหีบห่อทุเรียนอย่างเข้มงวด ณ โรงคัดบรรจุทุเรียน (ล้ง) ในพื้นที่จันทบุรี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในมาตรฐานการผลิต และกระบวนการส่งออก เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมส่งออกทุเรียนของไทย พร้อมประชุมหารือในเรื่องของการจัดซื้อและบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ข้ามแดนไปสู่ประเทศจีน เพื่อผลักดันการส่งออกทุเรียนไทยไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น
ขณะที่หนึ่งในแผนการสำคัญของ LEO ในปี 2568 คือการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟจีน-ไทย ด้วยตู้ Reefer Containers ให้เป็นระบบแบบขนส่ง Round trip มีสินค้าขาไปและขากลับ ระหว่างประเทศจีน-ไทย โดย LEO จะเป็นผู้จัดหาสินค้าส่งออกจากประเทศไทยมายังจีน และทางฝ่ายจีนก็จะช่วยหาสินค้าส่งออกจากประเทศจีนกลับมายังประเทศไทย
โดย LEO มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการ End-to-End Global Logistics Service Provider และเครือข่ายของ LaneXang Express ในประเทศจีนและไทยจะสามารถช่วยยกระดับการให้บริการเข้าสู่มาตรฐานสากล ผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างจีน-ไทย ให้ประสบความสำเร็จ และสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าทั้งในประเทศไทยและจีน
อย่างไรก็ตาม LEO เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางจากไทย ผ่านประเทศลาวจนถึงเมืองคุนหมิง และขยายการส่งต่อสินค้าไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทำให้บริษัทสามารถให้บริการขนส่งทางรางได้อย่างครบวงจร รองรับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ สินค้าเกษตร และสินค้าอื่น ๆ
โดยคาดว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย LEO ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่สามารถให้บริการขนส่งผลไม้ทางรางไปยังประเทศจีนได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางในไทยจนถึงปลายทางในเมืองต่าง ๆ ของจีน ซึ่ง LEO เชื่อมั่นว่า ปี 2568 รายได้และกำไรขั้นต้นของบริษัทจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาจากการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับจีน รวมทั้งธุรกิจของ Non-Logistics Business จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด