จับตาหุ้นส่งออกวูบ! สหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36% กระทบหนัก “อาหาร-อิเล็กฯ-เครื่องดื่ม”

หุ้นส่งออกสะเทือน! สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% เริ่ม 1 ส.ค. นี้ กระทบตรงกลุ่มอาหาร–อิเล็กทรอนิกส์–เครื่องดื่ม เด่นชัดใน AAI, ITC, DELTA, PLUS, ASIAN, HANA, KCE และ TU


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค.68) ตามเวลาในประเทศไทย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์เอกสารซึ่งเป็นจดหมายจากทำเนียบขาว ผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social โดยระบุว่าเป็นจดหมายที่ส่งถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีของไทย ณ ขณะที่จัดทำจดหมายฉบับนี้

โดยมีเนื้อหาระบุว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสองประเทศ และข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาได้ตกลงที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกับไทยต่อไป แม้จะประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับประเทศของท่านเป็นอย่างมากก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อกับไทย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น เราจึงขอเชิญประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอันน่าอัศจรรย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องลดเลิกการขาดดุลการค้าเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากนโยบายกำแพงภาษีและมิใช่ภาษี ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ของไทย จนรู้สึกเสียดายความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างกัน ที่การใช้มาตรการทางการค้าไม่เป็นไปในรูปแบบต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บ ภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับ สินค้าทุกชนิดจากไทย ที่ส่งเข้ามายังสหรัฐอเมริกา แยกจากภาษีตามหมวดหมู่สินค้าโดยสิ้นเชิง สินค้าที่ผ่านการถ่ายโอนจากประเทศที่สามเพื่อเลี่ยงภาษี จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าตามที่ควร

โดยในจดหมายฉบับนี้ สหรัฐอเมริกายังขอให้ไทยโปรดเข้าใจว่า อัตรา 36% นี้ยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าที่เรามีกับประเทศของท่าน และอย่างที่ทราบ หากไทยหรือบริษัทใดในประเทศของท่านเลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิตหรือประกอบสินค้าในสหรัฐอเมริกา จะไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ และสหรัฐอเมริกายังจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการอนุมัติด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

แต่หากไทยเลือกที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาไม่ว่าในอัตราใด เราจะเพิ่มอัตรานั้นเข้าไปใน 36% ที่กำหนดไว้แล้ว โปรดเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแก้ไขผลกระทบจากนโยบายภาษีและมิใช่ภาษีของไทยที่มีมานานหลายปี และนำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อเศรษฐกิจ และแม้แต่ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับไทยในฐานะพันธมิตรทางการค้าต่อไปอีกหลายปี หากไทยประสงค์จะเปิดตลาดการค้าที่เคยปิดไว้ต่อสหรัฐอเมริกา และยกเลิกนโยบายกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ เราอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขในจดหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าว สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา

ก่อนที่จะมีคำทิ้งท้ายว่า “สหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ขอบคุณสำหรับความใส่ใจในเรื่องนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง ขอแสดงความนับถือ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา”

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตรา 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกของไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง

โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัทที่ได้รับผลกระทบชัดเจน ได้แก่ ITC ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 50%, TU ที่มีสัดส่วน 20%, ASIAN ประมาณ 50% และ AAI ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และแคนาดารวมกันสูงถึง 67% นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเชิงการแข่งขัน เนื่องจากเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง กลับถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเพียง 20% ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านต้นทุนและราคาขาย

กลุ่มเครื่องดื่มที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบเช่นกัน ได้แก่ PLUS ซึ่งมีรายได้จากตลาดสหรัฐฯ 44%, COCOCO ที่ 24%, MALEE และ SAPPE ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 13% ของรายได้รวม

ในส่วนของกลุ่มเกษตรและผลิตภัณฑ์จากยาง บริษัทในเครือ STA มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 13% แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจยาง 7% และธุรกิจถุงมือยางผ่าน STGT อีก 18%

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย DELTA (30% ของรายได้รวมจากสหรัฐฯ), HANA (26%) และ KCE (21%) ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกันคือ 36% อย่างไรก็ตาม ความกังวลเพิ่มเติมอยู่ที่ประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซีย ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีเพียง 25% ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันโดยเฉพาะในกลุ่ม Semiconductor ขณะที่ไต้หวัน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราภาษี ถูกเรียกเก็บในรอบแรกที่ 32% ซึ่งยังคงต่ำกว่าไทย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงคาดหวังถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับทางการสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้จริง โดยหากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ส่งออกไทย ทั้งในด้านต้นทุนและการต่อรองจากคู่ค้าในสหรัฐฯ ซึ่งอาจผลักภาระภาษีบางส่วนมายังผู้ส่งออกไทย

ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการด้านเนื้อสัตว์ เช่น CPF, BTG, TFG และ GFPT ไม่ได้มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยตรง (ยกเว้น CPF ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.3%) แต่ยังมีความเสี่ยงทางอ้อม หากไทยต้องเสนอเงื่อนไขการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ด้วยการแลกเปลี่ยนให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ภายในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่ต้องจับตา หากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้สหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าอีก 10% ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนและอยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากประเทศไทยในอัตราที่ 36% ซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามในอัตราที่ 20%, มาเลเซียที่ 25%, และอินโดนีเซียในอัตราที่ใกล้เคียงกันที่ 32% อาจส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยลดลง

ในส่วนของประเทศไทยที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ 36% โดยเริ่มวันที่ 1 ส.ค. และหากมีการส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ก่อนที่จะส่งออกไปยังสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงกว่า สินค้าดังกล่าวก็จะถูกเรียกเก็บตามอัตราภาษีที่สูงกว่าตาม มองเป็นลบกับกลุ่มส่งออกอย่าง AAI,  ITC, DELTA

Back to top button