BBIK เด้งแรง 5% รับเป้า 3 ปีขึ้น SET100 มาร์เก็ตแคปทะลุ 2 หมื่นล้าน

BBIK ดีดกว่า 5% คิดใหญ่มาร์เก็ตแคปทะลุ 2 หมื่นล้านบาท ขึ้น SET100 ภายใน 3 ปี ล่าสุดย้ายเข้า SET กลุ่มเทคฯ แล้ววานนี้ ผู้บริหารลั่นเตรียมแผนนำบริษัทย่อยมีศักยภาพสูงกลุ่ม AI-Data Center และ Cybersecurity เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ สร้างการเติบโตในอนาคต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ก.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ณ เวลา 12:26 น. อยู่ที่ระดับ 20.50 บาท บวก 1 บาท หรือ 5.13% สูงสุดที่ระดับ 20.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.70 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 30.05 ล้านบาท

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBIK เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand หรือ SET) และได้ย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เข้าซื้อขายใน SET กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (ICT) มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.เป็นต้นไป รวมถึงได้ปรับโลโก้และแท็กไลน์ใหม่ เป็น “Ambition to Excellence” เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งมอบบริการที่เป็นเลิศให้แก่ลูกค้าและสังคม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ BBIK ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทใน SET100 ภายใน 3 ปี ด้วย Market Cap ประมาณ 20,000 ล้านบาทก็น่าจะเข้าได้ บริษัทเคยมี Market Cap ใหญ่สุดประมาณ 14,000 ล้านบาท รวมถึงบริษัทยังมีแผนระยะยาวในการเตรียม Spin Off บริษัทย่อยที่มีศักยภาพสูงกลุ่ม AI, Data และ Cybersecurity ในอนาคต เชื่อว่าการลงทุนจะสร้างการเติบโตได้ ขณะนี้กำลังรอดูจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสมของตลาด

โดยเป้าหมายการเข้า SET100 เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ที่เคยมีข้อจำกัดในการลงทุนในตลาด MAI สามารถลงทุนในบริษัทได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ และเปิดโอกาสในการระดมทุนและการเติบโตในอนาคต

สำหรับเป้าหมายหลักคือการเติบโตของกำไรอย่างน้อยเท่าตัวจากปัจจุบัน บริษัทเชื่อว่าสามารถทำได้จากการปรับโครงสร้างและ Economy of Scale ที่ทำให้กำไรเติบโตในสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันอาจยังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และศักยภาพการเติบโตที่สูงของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และสื่อสารเพื่อให้ตลาดเข้าใจธุรกิจและแผนการเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ BBIK วางเป้าการเติบโตของรายได้เป็นตัวเลขสองหลัก (double-digit growth) ประมาณ 20-30% แม้สถานการณ์ปัจจุบันอาจยังอ่อนแออยู่ และครึ่งปีหลังมีความท้าทาย แต่บริษัทยังคงยืนยันเป้าหมายเดิม และคาดว่าปีนี้จะยังคงทำกำไรได้มากกว่าปีที่แล้ว และ BBIK รักษา Net Margin อยู่ที่ประมาณ 20% มาโดยตลอด และเชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงตัวเลขนี้ให้สูงขึ้นได้ถึง 25% ในอนาคต ปีนี้มีโอกาสที่ Net Margin จะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วอยู่ในช่วง 20% โดยการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนให้ดีขึ้น จะมีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการตัดสินใจและลดความผิดพลาดในการทำงาน การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและการรวมศูนย์เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาการทำงานในหลายจุด รวมถึงมีทีมงานที่มีคุณภาพและผู้บริหารใหม่เข้ามาเสริมทีม

รวมถึงมีการลงทุนระบบเพื่อเพิ่มวินัยในการบริหารจัดการ เช่น การจับคู่ Demand และ Supply ของบริษัท เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่ (Staff Utilization) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่ม Net Margin รวมถึงมองหาโอกาสในการสร้างบริการใหม่ ๆ ทั้งจากการวิจัยและพัฒนาภายในทีม รวมถึงการเป็นพันธมิตรและร่วมทุน (Joint Venture) กับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ

โดยเชื่อว่าโมเดลการเป็นพันธมิตรจะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ซึ่งบริษัทเชื่อว่า M&A เป็นเครื่องมือที่ดีในการเติบโต แต่เน้นการเข้าซื้อที่ก่อให้เกิด Synergy (การทำงานร่วมกันที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มากกว่าการรวมกันธรรมดา) เพื่อให้เกิดการเติบโต มีการพูดคุยเรื่อง M&A อยู่ตลอด และคาดว่าภายใน 1-2 ปีน่าจะมี M&A ขนาดใหญ่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในหมวดดิจิทัลและงาน Implementation การระดมทุนสำหรับการทำ M&A จะต้องพิจารณาสภาพตลาด เนื่องจากปัจจุบันการระดมทุนผ่านหุ้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

ในส่วนของการรับมือกับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี เช่น Automation, AI และการลงทุนในดิจิทัลมากขึ้นเพื่อลดแรงงานที่ไม่จำเป็น มีการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยมองหาการพัฒนาเทคโนโลยีแบบ Tailor-Made หรือ Custom มากขึ้น แทนที่จะใช้ Software as a Service (SaaS) ที่เป็นระบบสำเร็จรูป รวมเกิดการลงทุนใน Cloud และ Data Center ภายในประเทศ (อธิปไตยของ Cloud) รวมถึงการพัฒนา AI ในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลดีต่อบริษัท เนื่องจากบริษัทไม่ได้พึ่งพาผลิตภัณฑ์ต่างชาติมากนัก และใช้ความรู้ของตนเองเป็นหลักในการสร้างระบบ

สำหรับการขยายสู่ตลาด Virtual Bank บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการรับงานจากธนาคารเสมือนทั้ง 3 แห่ง โดยจะต้องไม่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมองว่าการลงทุนใน Virtual Banking โดยแต่ละเจ้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และยังมีการหาพันธมิตรและร่วมทุน (Partnership and Joint Venture) กับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างบริการใหม่ ๆ การต่อยอดและเพิ่มยอดขาย (Upsell and Cross-sell) กับลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว การขยายสู่ตลาดต่างประเทศในระยะยาว แม้ในปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 10% และมีเป้าหมายระยะสั้น 10-15% แต่ระยะยาวเชื่อว่าตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศมาก

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังมีแผนจะประมูลงานเพิ่ม โดยเน้นงานที่สอดคล้องกับเทรนด์ เช่น AI, Virtual Banking หรือโครงการของภาครัฐ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าเดิมด้วยการ Upsell และ Cross-sell ในระยะยาวบริษัทมองเห็นโอกาสในการเติบโตในตลาดต่างประเทศซึ่งใหญ่กว่าตลาดในประเทศมาก

Back to top button