สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 9 มี.ค.59


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 112.45 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 112.50 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.09363 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0979 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,390.66 จุด เพิ่มขึ้น 16.04 จุด หรือ 1.17% มูลค่าการซื้อขาย 56,222.21 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 477.51 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะใช้ข้อมูล GDP และ GNP ควบคู่กันการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อให้ได้ภาพในมุมกว้าง และเข้าใจการเชื่อมโยงของกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ก็คือ ความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล เพราะจะช่วยให้สามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างครอบคลุมและเท่าทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

– นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็น อันขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 4 และ 5 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 โดยชัดแจ้ง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ แต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความขัดแย้งและแตกความสามัคคีของประชาชนในชาติ เพราะจะทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศออกมาคัดค้านกันอย่างมากมาย รวมทั้งเป็นการทำลาย “หลักการ” ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

– ราคาทองในประเทศวันนี้ปรับตัวลดลงถึงบาทละ 300 ตามราคาคลาดโลก โดย บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงในเมื่อคืนนี้หลังจากเกิดแรงขายทำกำไรของนักลงทุน ถึงแม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลดลงจากแรงขายทำกำไรจากราคาน้ำมันที่เริ่มอ่อนตัวลง และตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณออกมาแย่อีกครั้ง แต่ราคาทองซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็กลับอ่อนตัวลงเช่นกันเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่รอความชัดเจนของการประชุม ECB ในคืนพรุ่งนี้ และการประชุมของ FED ในสัปดาห์หน้า และราคาทองก็ถูกกดดันจากแรงขาย SPDR ที่ขายทองคำออกมาเล็กน้อย ทำให้ราคาทองคำตอนนี้ยังขาดความชัดเจน

– นายนิโคลัส ลาร์ดี นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน และผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในเรื่องของเศรษฐกิจจีน เปิดเผยในรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนว่า กระแสวิตกเกี่ยวกับการเกิดภาวะฮาร์ดแลนดิ้งในจีนและการอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินหยวนนั้น ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความปั่นป่วนในตลาดโลกสำหรับปี 2559 แต่ “ทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมจีนมากเกินไป” โดยอุตสาหกรรมจีนนั้นมีการเติบโตชะลอตัวลงมา 6 ปีแล้ว

– นายชิว เส้าฉี เอกอัครราชทูตจีนประจำเม็กซิโกเปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนยังคงเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพและแหล่งการพัฒนาของโลก แม้ว่ากำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ โดยในปี 2558 แม้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกมีความซับซ้อน แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังอยู่ที่ 6.9% ซึ่งสร้างงานได้ถึง 13 ล้านตำแหน่ง และช่วยให้ประชาชนในเขตชนบทราว 14 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

– นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า จีนอยู่ระหว่างการสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นและความสามารถด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคต่างๆ ควบคู่กับการมุ่งเน้นการลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ

– กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 242,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 190,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี นายเควิน วาร์ช อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานสหรัฐนั้นไม่แข็งแกร่งพอที่จะรองรับอัตราการว่างงานได้ โดยนายวาร์ชได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในที่ประชุมสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ

– สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ในปีนี้ลงเหลือ 34.04 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 37.59 ดอลลาร์/บาร์เรล และได้ปรับลดคาดการณ์ราคาในปีหน้าลงเหลือ 40.09 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ EIA ยังได้ปรับลดคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปีนี้ ลงเหลือ 8.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 8.69 ล้านบาร์เรล และได้ปรับลดคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบในปีหน้าลงเหลือ 8.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 8.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button