PTTEP เดินหน้าศึกษาพลังงานทางเลือก คงเป้าผลิต 6 แสนบาร์เรล/วัน ภายในปี 63

PTTEP เดินหน้าศึกษาพลังงานทางเลือก คาดชัดเจนปีนี้ หวังต่อยอดธุรกิจ ขณะที่คงเป้าผลิต 6 แสนบาร์เรล/วัน ภายในปี 63 จากปีนี้ที่คาดทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 3.22 แสนบาร์เรล/วัน


นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยวา ตามแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างความเติบโตยั่งยืนในระยะยาวนั้น บริษัทได้ศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต ซึ่งรวมถึงพลังงานทางเลือก คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ยังคงมีเป้าหมายการผลิตและขายปิโตรเลียมให้ได้ระดับ 6 แสนบาร์เรล/วันภายในปี 63 จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 3.22 แสนบาร์เรล/วัน

โดยปัจจุบันบริษัทได้จัดตั้งทีมงานเพื่อศึกษางานด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยมุ่งเป้าหมาย 5 เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการสำรวจปิโตรเลียม, การผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งขนาดเล็ก, การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม, การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งน้ำลึก รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) และการผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas)

ทั้งนี้ การศึกษาธุรกิจพลังงานทางเลือกดังกล่าวอยู่ภายใต้กลยุทธ์ด้าน RENEW ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจบริษัท ซึ่งนอกเหนือจากพลังงานทางเลือกแล้ว ยังรวมถึงการดำเนินงานร่วมกับ บมจ.ปตท. (PTT) ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำนับเป็นโอกาสที่ดีทั้งการซื้อ LNG และการลงทุนใน LNG ซึ่งปัจจุบันโอกาสเปิดทั้งในอเมริกาเหนือ แคนาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกบริษัทจะต้องพยายามผลักดันโครงการผลิต LNG ในแหล่งโมซัมบิกให้เกิดขึ้นได้ก่อน เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวได้ภายในปลายปี 59 ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 8.5% ขณะที่ปัจจุบัน PTT มีสัญญาซื้อ LNG จากแหล่งดังกล่าวแล้ว 2.6 ล้านตัน จากเป้าหมายการผลิต LNG ระยะแรกของโครงการ 2 สายการผลิตรวม 12 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงปี 63-64

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอีก 2 ด้านได้แก่ RESET ซึ่งเป็นการปรับฐานทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน สร้างจิตสำนึกเรื่องการลดต้นทุน และรักษาระดับการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยปีนี้บริษัทปรับลดค่าใช้จ่ายรวมลง 10% จาก 3.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับลดทั้งในส่วนของงบการดำเนินงาน และงบลงทุน แต่ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 59-63) ยังคงงบค่าใช้จ่ายรวมที่ราว 1.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งงบค่าใช้จ่ายรวมดังกล่าวไม่นับรวมการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A)

สำหรับเป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายรวมในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะลดค่าใช้จ่ายรวมต่อบาร์เรล (unit cost) เหลือราว 34-35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 39 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว และจะลดค่าใช้จ่ายส่วนเงินสดที่ใช้จริงต่อบาร์เรล (cash cost) ลง 10% จากราว 16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว  ขณะที่ยังคงเป้าหมายการผลิตและขายปิโตรเลียมในปีนี้ที่ระดับใกล้เคียงกับปีที่ก่อนที่ทำได้ 3.22 แสนบาร์เรล/วัน

ขณะที่กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอีก 1 ด้าน คือ REFOCUS จะเน้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญ เพิ่มการลงทุนในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีในพื้นที่เหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่บริษัทมีการลงทุนในไทยและเมียนมาร์อยู่มากถึง 70-80% รวมถึงกลยุทธ์นี้จะผลักดันให้โครงการที่มีศักยภาพดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เช่น โครงการโมซัมบิก

สำหรับโครงการที่มีความเสี่ยงในการสำรวจก็อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน เช่น โครงการในเมียนมาร์ ที่บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างสำรวจหลายโครงการ โดยถือหุ้นข้างมากในสัดส่วน 70-80% หรือบางโครงการถือหุ้น 100% ตลอดจนยังจะเพิ่มโอกาสการลงทุนในตะวันออกลาง โดยการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐบาลต่อรัฐบาล

โดยปัจจุบัน บริษัทมีเงินสดในมือสูงถึงราว 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพได้ โดยมองว่าปีนี้โอกาสการทำ M&A มีมากขึ้น หลังคาดว่าราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะยืนอยู่ระหว่าง 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีที่แล้วที่มีความผันผวนของราคาน้ำมันมากทำให้การสรุปของกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายไม่ลงตัว

ขณะที่ในส่วนของการเข้าซื้อหุ้น 22.2% ในแหล่งบงกชที่บริติช แก๊ส (บีจี กรุ๊ป) เสนอขายออกมานั้น ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณา รวมถึงมองเป็นโอกาสการลงทุนมากขึ้นหลังมีข่าวว่าทางกลุ่มเชฟรอนจะขายสินทรัพย์ในเมียนมาร์ออกมาด้วย

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายการผลิตและขายปิโตรเลียมตามแผนกลยุทธ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6 แสนบาร์เรล/วันภายในปี 63 ซึ่งจะมาจากการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมเดิม รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ และการสนใจเข้าร่วมประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่รัฐบาลกำลังจะเปิดสัมปทานรอบใหม่ในอนาคตด้วย ตลอดจนคาดว่าจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการแหล่งบงกชในอ่าวไทยที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 65-66

“ณ วันนี้เราอยากได้ความชัดเจนภายในปีนี้เพื่อจะได้สานความต่อเนื่อง ถ้าเราได้เป็นผู้ดำเนินการต่อก็จะได้ประเมินผลและขุดเจาะหลุมสำรวจมากขึ้น เข้าใจว่ารัฐบาลก็มองเรื่องของความต่อเนื่องและเร่งรัดให้จบโดยเร็ว”นายสมพร กล่าว

สำหรับแหล่งบงกชนับเป็นแหล่งใหญ่ของประเทศ มีการผลิตราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มากกว่าปริมาณการซื้อขายตามสัญญาที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นการผลิตราว 20% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่ 4,500-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน บริษัทก็ต้องจะพยายามรักษาระดับการผลิตในระดับปัจจุบันให้ได้นานที่สุด โดยอาจจะขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้ในระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะการลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่สัญญาใกล้หมดอายุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนัก

ส่วนการที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะเก็บรักษาปิโตรเลียมในประเทศไว้ในช่วงที่ราคาพลังงานต่ำ โดยจะใช้การนำเข้า LNG มาเป็นการทดแทนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการออกมา อย่างไรก็ตามการซื้อขายปิโตรเลียมนั้น มีสัญญากำหนดรับซื้อปริมาณปิโตรเลียมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

Back to top button