‘บจ.’ ไทยยังแกร่งลูบคมตลาดทุน

หากไม่มีอะไรผิดพลาด


ธนะชัย ณ นคร

 

หากไม่มีอะไรผิดพลาด

การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%

จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 0.25 – 0.50%

มาอยู่ที่  0.50-0.75%

การขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยมองว่า ไม่น่าจะส่งผลลบต่อหุ้นไทยมากนัก

เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดลงทุนไทยยังสูงกว่า

แต่ก็ประเด็นที่ต้องติดตาม

นั่นคือ เฟดจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าไว้อย่างไร

จะปรับขึ้นกี่ครั้งล่ะ

2 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง นี่คือสิ่งที่นักลงทุนสนใจมากกว่า

หาก 2 ครั้ง ก็ยังพอทำใจได้ แต่หาก 4 ครั้งนี่สิ ไม่แน่ใจว่าฟันด์โฟลว์จะไหลออกไปอีกหรือไม่ จากปัจจุบันที่ในปี 2559 นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอยู่ 7.90 หมื่นล้านบาท

ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1.90 หมื่นล้านบาท

หากฟันด์โฟลว์ขาย และมีสถาบัน (หรือกองทุน) มารับ ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องวิตก

ปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยกว่า 55-60% ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบัน(รวมบัญชีบริษัทหลักทรัพย์)

วันก่อนผมมีโอกาสคุยกับคุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์(ตลท.)

คุณเกศรา บอกว่า จริงๆ อยากให้นักลงทุนสถาบันมีสัดส่วนการซื้อขายเพิ่มขึ้นมาเป็น 50%

แต่นั่นไม่ใช่หมายความว่า ต้องการลดสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลงไป เพียงแต่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้สถาบันเข้ามามีสัดส่วนมากขึ้น

ผมเข้าใจว่า นัยสำคัญ อาจจะเพื่อจะให้นักลงทุนสถาบันนั้น อย่างน้อยก็เป็น“เสาค้ำยัน”ที่ดีกับตลาดหุ้น

กลับมาในประเด็นที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย

ในมุมมองของนักวิเคราะห์มีการมองว่า มีหุ้นหลายกลุ่ม หลายตัว ที่ได้รับประโยชน์

เช่น หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจประกัน

ด้วยเหตุผลว่า ดอกเบี้ยจะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้และเงินฝากของแบงก์ต่างๆ นั้น มีความกว้างมากขึ้น

แบงก์ที่ได้รับประโยชน์ ก็จะเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเล็ก

เช่น SCB , BBL และ KBANK

ส่วนแบงก์ที่มีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ค่อนข้างมาก ก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เช่น TISCO

ส่วนกลุ่มประกัน ก็จะได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น

โดยเฉพาะหุ้นประกันชีวิต เพราะ ส่วนใหญ่ของพอร์ตลงทุน จะลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมา ผลตอบแทนลดลงระดับต่ำ ทำให้ต้องมีการกันสำรองกันค่อนข้างมาก

หุ้นในกลุ่มนี้ ก็เช่น BLA หรือ กรุงเทพประกันชีวิต และไทยรีประกันชีวิต(THREL)

หุ้นแบงก์ ก็น่าจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง หลังจากซบเซาเป็นช่วงๆ จากปัญหาเอ็นพีแอล

ทว่า มีผู้บริหารในวงการโบรกฯ ต่างมองในด้านบวกครับ

และไม่อยากให้นักลงทุนไปตื่นตกใจกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมากนัก เพราะผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ดี

ในประเด็นนี้เอง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็บอกว่า ผลตอบแทนหุ้นไทยยังอยู่ระดับสูงสุดในอาเซียน

ฐานะการเงินต่างๆ ค่าเฉลี่ยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

บจ.หลายๆ แห่งมีเงินสดในมือเยอะ

หนี้สินต่อทุน หรือ D/E มีค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ หรือประมาณ 1.4 เท่า เท่านั้น

บจ.ของไทย ที่มีขนาดกลางและเล็ก ต่างสร้างผลประกอบการได้ดีมากในปีนี้

และมีแนวโน้มที่ดีอยู่

Back to top button