มุมมองใหม่และใหญ่ต่อจีนพลวัต 2017

ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนล่าสุด ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนได้เวลาทะยานขึ้นระลอกใหม่ ท่ามกลางคำถามที่ชวนระแวงว่าด้วยวิกฤตการเงินจากหนี้ล้นพ้นในระบอบรัฐวิสาหกิจที่มหาศาล


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนล่าสุด ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนได้เวลาทะยานขึ้นระลอกใหม่ ท่ามกลางคำถามที่ชวนระแวงว่าด้วยวิกฤตการเงินจากหนี้ล้นพ้นในระบอบรัฐวิสาหกิจที่มหาศาล

ตัวเลขยอดส่งออกจีนเดือนมกราคม ที่ขยายตัว 15.9% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 25.2% และมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น 19.6% มีผลทำให้ตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก มุ่งสู่ทิศทางเป็นขาขึ้นทั่วหน้า ยกเว้นราคาทองคำ และค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ที่สวนทางข่าวดีดังกล่าว

ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เนื่องจากมาไล่เลี่ยกันกับข่าวดีใหม่นั่นคือ การปรับท่าทีของทีมงาน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อจีนและญี่ปุ่น ซึ่งลดความแข็งกร้าวลง (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) ถือเป็นปัจจัยเสริมที่มีความหมายเช่นเดียวกันและมีเสียงตอบรับที่ดีในทันที

การสนทนาข้ามประเทศโดยตรงระหว่าง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และ ทรัมป์ ในประเด็นต่างๆ เป็นเวลานาน โดยพวกเขาเห็นพ้องว่า จะร่วมมือกันเจรจาในประเด็นต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้ประธานสภาธุรกิจสหรัฐ-จีนออกโรงมาระบุว่า การค้าและการลงทุนระดับทวิภาคียังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ซึ่งมีเสถียรภาพระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งได้รับความใส่ใจเป็นอย่างดีจากทั้ง 2 ฝ่าย

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการค้าระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 211 เท่า จากปี 2522 เป็น 5.196 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2559 ขณะที่การลงทุนระดับทวิภาคีก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยตลอดระยะเวลา 38 ปีที่ผ่านมา นับจนถึงสิ้นปี 2559 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการลงทุนระหว่างกันทั้งสิ้นกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์

ล่าสุด มีการคาดเดาว่า สหรัฐตั้งเป้าจะส่งออกสินค้ามูลค่า 5.25 แสนล้านดอลลาร์มายังจีนในปี 2573 โดยที่ส่วนแบ่งการตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จาก 7.3% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงขนาดตลาดที่ใหญ่มหึมาของตลาดจีนและการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง

เป้าหมายดังกล่าว ตอกย้ำว่า บริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองจีนว่าเป็นตลาดที่สำคัญ และหวังว่าการสื่อสารทางตรงของผู้นำสองประเทศ จะสร้างสัมพันธภาพที่ใหญ่และซับซ้อน เพื่อบรรลุข้อตกลงการลงทุนระดับทวิภาคีที่มีมาตรฐานสูงเพื่อรับมือกับความกังวลของธุรกิจจากทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้เงื่อนไขหลักคือ จีนยังคงรุดหน้าเติบโตต่อไป 

นับแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา มีสัญญาณชัดเจนว่า จีนกำลังเดินหน้าฟื้นตัวจากช่วงเวลาของการปรับดุลยภาพใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาต่ำ เริ่มตั้งแต่ ZEWสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยที่มีหลักฐานเชิงปริมาณและคุณภาพที่บ่งชี้ว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคของจีน ได้ปรับตัวสู่แดนบวกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559  และคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2560  จะปรับตัวขึ้นเป็น 6.5% โดยที่สัดส่วนการส่งออกจะลดความสำคัญลงในการขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นเสาหลักแทน

งานวิจัยโดย PricewaterhouseCoopers Australia’s ในปลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ก็ระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในอนาคตข้างหน้า มีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการดำรงฐานะเป็นตลาดเป้าหมายซื้อสินค้าจากทั่วโลกระดับหัวแถว มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชาติคู่ค้าดีขึ้นหรือเลวลงได้ชัดเจน

การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และส่งออกทุนไปต่างประเทศมากขึ้นของจีน คือบทบาทสำคัญในยุคฟื้นตัวหลังปรับดุลยภาพที่มีความหมายในอนาคตอย่างยิ่ง ในยามที่สหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ชูคำขวัญว่าด้วย “อเมริกามาก่อน” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการถอนตัวจากการสร้างอิทธิพลในขอบเขตทั่วโลกที่ต่างจากในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวเลขในช่วงไตรมาสสามปีทีผ่านมาของจีน นับตั้งแต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ ยอดค้าปลีก และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ล้วนออกมาสอดรับกับคำพังเพยว่า เมื่อจีนหายป่วย โลกก็พร้อมสำหรับการฟื้นตัวจริงจัง

                การพลิกตัวทะยานขึ้นของเศรษฐกิจจีนแม้จะถูกพวกอนุรักษนิยมในโลกตะวันตกบิดเบือนว่า เกิดจากการบิดเบือนค่าหยวนให้ต่ำเกินจริงของรัฐบาลจีนเป็นสำคัญ ก็ทำให้เกิดการปรับมุมมองของนักกลยุทธ์ระดับโลกที่เป็นบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวเลขการลงทุนของจีนในต่างประเทศในลักษณะกองทุนร่วมเสี่ยง (เวนเจอร์ แคปปิตอล) ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจดูแลสุขภาพและบันเทิงมากกว่าปกติ สวนทางกับตัวเลขการลงทุนทั่วโลกที่ลดลง

นักลงทุนต่างประเทศ ยังมีมุมมองเชิงบวกว่าภาคบริการจีนยังคงเป็นภาคที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินลงทุนจากสหรัฐพุ่งขึ้น 118.9% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทุนจากยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและอังกฤษเพิ่มขึ้น 95.8% และ 51.7% ตามลำดับ

ล่าสุด มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ออกมาระบุอีกครั้งว่าการบริโภคและการเติบใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมบริการที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง (high value-added manufacturing and services) อาทิ ธุรกิจสุขภาพ การศึกษา การรักษาสภาวะแวดล้อมของโลก ในประเภทของธุรกิจเกิดใหม่จีน จะทำให้อัตราการเติบโตของกำลังซื้อที่แข็งแกร่งจากระดับรายได้ต่อหัวปัจจุบัน 8.1 พันดอลลาร์ต่อปี เป็น 1.29 หมื่นดอลลาร์ต่อปีใน 10 ปีข้างหน้า จะสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤตจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัวของสถาบันการเงินจีนที่เกิดจากรัฐวิสาหกิจที่มีตัวเลขขาดทุนมหาศาล

ที่สำคัญ การลงทุนในธุรกิจบริการของจีนในต่างประเทศ จะกลายเป็นแหล่งทำเงินกลับเข้ามาในจีนอย่างมหาศาล โดยไม่ต้องกังวลกับการส่งออกสินค้าที่ชะลอสัดส่วนลง

มุมมองของมอร์แกน สแตนเลย์ ที่ถือว่า โลกไม่อาจเติบโตได้ หากเราปราศจากการเติบโตของจีน  มีความหมายชวนให้ก้าวข้ามท่าทีคร่ำครึของทรัมป์ และพวก (ก่อนหน้านี้) ลงไปได้มาก

Back to top button