ตลาดหุ้นและเศรษกิจกำมะลอ (1)พลวัต 2017

ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย (วัดจากดัชนีต้นปีถึงปลายปีเทียบกันอย่างง่าย) ที่ระดับ 20% ในขณะที่คาดเดากันว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของประเทศจะโตไม่เกิน 3.5%


วิษณุ โชลิตกุล

 

ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย (วัดจากดัชนีต้นปีถึงปลายปีเทียบกันอย่างง่าย) ที่ระดับ 20% ในขณะที่คาดเดากันว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของประเทศจะโตไม่เกิน 3.5% 

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า เศรษฐกิจดี แต่ตลาดหุ้นแย่ และเศรษฐกิจแย่ แต่ตลาดหุ้นดี เป็นไปได้และเป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่

ตัวอย่างในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็เสริมส่งชัดเจนคล้ายกันว่า เมื่อดัชนีดาวโจนส์นิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่าในปีที่ผ่านมา ตัวเลขอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังต่ำเตี้ยติดดิน

ถ้าใช่ ก็จะมีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า อย่างนั้นดัชนีตลาดหุ้นก็แทบจะไม่สัมพันธ์อะไรเลยกับการเติบโตทางเศรษกิจของประเทศเลยสิ

ถึงตรงนี้ อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ข้อสรุปสุดขั้วไปหน่อย

มาถึงปีนี้ หลายเดือนก่อน คณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่าคาดหวังมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของตลาดหุ้นไทย จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 4-5 ปีข้างหน้า หลังมีแผนจะเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผู้ลงทุน รวมถึงการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลท.และที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลท. ให้สามารถระดมทุนได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระยะยาว ตลอดจนมีแผนดึงผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยในอนาคตให้ได้

เริ่มตั้งแต่ปี 2560 นี้ ตั้งเป้าหมายนำบริษัทเข้าจดทะเบียนคิดเป็น 25% ของมูลค่า new IPO ขณะที่ Market cap บจ.เข้าใหม่ 280,000 ล้านบาท ระดมทุนเพิ่ม 270,000 ล้านบาท ผู้ลงทุนใหม่ (หุ้น) รวม 100,000 คน (อนุพันธ์) รวม 10,000 คน และสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Startup & new products เป็น new platform อย่างจริงจัง

เป้าหมายดังกล่าว อาจจะดูเลิศลอยไปสักหน่อย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหากพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จะพบว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไทย ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนหลายด้าน ได้แก่ 

– มูลค่าของการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน สะท้อนความกระตือรือร้นของบริษัททั้งหลาย 

– ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท นับว่ามากสุดในอาเซียน แม้ว่าจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดอาจจะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีรายได้และเงินออม 

เพียงแต่จุดอ่อนที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทย ตลาดหุ้นอื่นในอาเซียน คือ มาร์เก็ตแคป ซึ่งถูกจัดอยู่อันดับ 2 หรือ 3 โดยมีสิงคโปร์มีมาร์เก็ตแคปสูงเป็นอันดับ 1 

ประเด็นการเพิ่มมาร์เก็ตแคปนั้น ทำได้ 2 วิธีคือ วิธีแรก เพิ่มราคาหุ้นในตลาดให้สูงขึ้น แต่ก็มีขีดจำกัด เพราะจะต้องเทียบเคียงค่าพี/อี กับตลาดอื่นๆ ด้วย และปัจจุบันค่าพี/อีของตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ถือว่าระดับหัวแถวของตลาดอาเซียนอยู่แล้ว คงจะเพิ่มราคาหุ้นให้สูงกว่าคงไม่ได้ 

วิธีการที่สองคือ การหาทางเพิ่มสินค้าหรือบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เข้ามาในตลาดมากขึ้น

ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย มักจะเป็นบริษัทขนาดกลางหรือเล็ก ที่เข้ามาในตลาด mai มากกว่า ทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์ไทยโตช้า

วิธีการที่สามคือ บริษัทจดทะเบียนหรือหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนต่างๆ พากันเติบโตด้วยการเพิ่มทุนหรือเพิ่มขนาดจำนวนมากๆ แต่เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ต้องขึ้นกับเหตุผลในการเติบโตด้วยเพราะมันเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยอื่น เช่น ผลตอบแทนในหลักทรัพย์ สิทธิความเป็นเจ้าของ และอนาคตของกิจการที่มุ่งไป 

วิธีการสุดท้ายคือ การออกแบบตลาดใหม่ สร้างเงื่อนไขให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนจดทะเบียนมากพอสมควร แต่เงื่อนไขที่จะดึงดูดบริษัทต่างประเทศนั้น ต้องแก้กติกาให้ยืดหยุ่นมาก ตั้งแต่การรับเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ (ซึ่งต้องให้นักลงทุนในประเทศได้เข้าใจด้วยผ่านการแปลเป็นภาษาไทย)กติกาทางบัญชีและงบการเงินที่ผ่อนปรนกับบริษัทต่างประเทศ รวมตลอดไปถึงการซื้อขายที่นอกเหนือจากเงินสกุลบาท เป็นเงินสกุลดอลลาร์ หรือสกุลเงินตามสัญชาติบริษัทนั้นๆ ซึ่งไม่ง่าย

หากมองข้ามปัญหาทางเทคนิคเหล่านี้ ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็ยังคงถือว่าเป็นตลาดขาขึ้น (ที่ไม่เกี่ยวกับดัชนีของตลาด) ทั้งในเชิงปริมาณ (มูลค่าซื้อขายรายวันที่เพิ่ม มาร์เก็ตแคปเพิ่ม จำนวนนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น และสินค้าใหม่เพิ่ม) และคุณภาพ (ความสามารถในการแข่งขัน และระบบสาธารณูปโภคสำหรับการซื้อขายที่สะดวก)

ภาพรวมที่เป็นบวกของตลาดหลักทรัพย์ไทยนี้ ดูขัดแย้งกับโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะในปีนี้ แม้รัฐบาลโดยทีมงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะพยายามป่าวร้องซ้ำซากเพียงใดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่คนที่เชื่อถือในคำป่าวร้องดังกล่าวก็มีน้อยกว่าไม่เชื่อ ที่ดูจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

คำถามคือ ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตแบบ “ไปโลด” อย่างก้าวกระโดด ทิ้งห่างจากภาวะต้วมเตี้ยมของเศรษฐกิจประเทศโดยรวมในสภาพกำมะลอเช่นนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน

 (ยังมีต่อ)

 

 

 

Back to top button