ความจริงเรื่องพลังงานไฟฟ้าของไทยพลวัต 2017

หน่วยงานรัฐไทยที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานด้านไฟฟ้า พยายามนำเสนอข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนมาตลอดว่าในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้าจะเกิดการขาดแคลนมากโดยเฉพาะในภาคใต้ ขณะที่พวกต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่สุดขั้วว่าไม่ได้ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่ปริมาณไฟฟ้าสำรองยังมีเหลือเพียงพอ ไม่ต้องเร่งก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


วิษณุ โชลิตกุล

 

หน่วยงานรัฐไทยที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานด้านไฟฟ้า พยายามนำเสนอข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนมาตลอดว่าในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้าจะเกิดการขาดแคลนมากโดยเฉพาะในภาคใต้ ขณะที่พวกต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่สุดขั้วว่าไม่ได้ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่ปริมาณไฟฟ้าสำรองยังมีเหลือเพียงพอ ไม่ต้องเร่งก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลที่นำเสนอต่างกัน มีเจตนาที่ต่างกัน คนที่อยู่ตรงกลางก็เลยสับสน ไม่รู้จะเชื่อใครดี

กรณีของอุปสงค์/อุปทานไฟฟ้าในภาคใต้ ถ้าหากฟังข้อมูลของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฝ่ายเดียว จะทำให้เห็นคล้อยตามได้ไม่ยากว่า ความจำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์ (800 เมกะวัต์ที่กระบี่และอีก 2,000 เมกะวัตต์ที่เทพาสงขลา) จำเป็นอย่างยิ่ง คำโต้แย้งของฝ่ายต่อต้านฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง

เพียงแต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพลังงานเอง กลับลดทอนความน่าเชื่อถือของข้ออ้างและความสมเหตุสมผลของรัฐไทยในการผลักดันโรงไฟฟ้าที่กระบี่และเทพาอย่างสิ้นเชิงหมดจด และส่งผลให้ข้ออ้างของกลุ่มต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีน้ำหนักกลับมาอีก แม้ว่าบางครั้งใครๆ ก็รู้ว่าข้อเสนอของกลุ่มต่อต้านบางคนมีการประดิษฐ์หรือบิดเบือนเกินจริงมากๆ

ข้อมูลที่หักล้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐไทยในเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคตของเขตพื้นที่ภาคใต้จนหมดสิ้น ถูกเปิดออกมาโดยรัฐมนตรีพลังงานเอง ในกรณีของโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จของ กลุ่มกัลฟ์ อีเล็กทริกฯ ที่อำเภอปลวกแดง ระยอง

ปลายปีที่ผ่านมา ก่อนการนำเสนอเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เข้าพิจารณาใน กพช. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยเองว่า  ได้ส่งทีมงานเข้าเจรจากับเครือบริษัท กัลฟ์ฯ เพื่อให้ชะลอโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 5,000 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 โดยให้เลื่อนการเข้าระบบออกไปก่อน เพื่อให้ภาพรวมปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไม่เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงกว่า 30% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งสูงกว่าปกติที่ควรอยู่ระดับ 15% โดยปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนให้สูงขึ้น

ข้อมูลดังกล่าวย้ำว่า ในปัจจุบัน มี “ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ” สูงกว่า 30% ของปริมาณอุปสงค์ไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งสูงกว่าปกติที่ควรอยู่ระดับเพียงแค่ 15% 

การเจรจาให้เครือ กัลฟ์ อีเล็กทริกฯ เลื่อน หรือชะลอขายไฟฟ้าเข้าระบบ เป็นเรื่องน่าสนใจ และทำลายความน่าเชื่อถือเรื่องไฟฟ้าจะขาดแคลนในอนาคต เพราะถ้าหากข้อมูลรัฐมนตรีพลังงานไม่ผิดพลาด แสดงว่าหากโรงไฟฟ้าของเครือกัลฟ์ฯเสร็จพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบในปีที่กำหนด 2564 เป็นต้นไป ปริมาณไฟฟ้าสำรองส่วนเกินของระบบทั้งประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล 

นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพาอีก 2,800 เมกะวัตต์ ก็ไม่ใช่การตอบโจทย์ของการขาดแคลนไฟฟ้า ตามที่กล่าวอ้าง แต่มีเจตนาอื่นที่ไม่ยอมประกาศ

ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าที่แท้จริงของภาคใต้โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรงที่กระบี่และเทพา ยอดรวม 2,800 เมกะวัตต์ จึงเกี่ยวกับปัญหาสายส่งมากกว่าโรงไฟฟ้า

ในกรณีของกลุ่มกัลฟ์ฯ ถือว่าเป็นกลุ่มทุนที่สร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ได้ชนะการประมูลรับใบอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ภายหลังจากการพิจารณาทั้งด้านเทคนิคและราคา 

โรงไฟฟ้าดังกล่าว มีสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.เข้าระบบ (PPA) ไปแล้ว และลงมือก่อสร้างไปแล้ว โดยตั้งโรงงานผลิตที่อำเภอปลวกแดง เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 โดยมีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่บรรจุเอาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี 2015 ซึ่งจะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหรือ COD ตั้งแต่ปี 2564 2565 2567 ถึง 2568 เฉลี่ยปีละ 1,250 เมกะวัตต์

กลุ่มกัลฟ์ฯ ใช้ชื่อว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมลงทุนกับบริษัท มิตซุย ของญี่ปุ่น เป็นผู้ชนะการประมูลเหนือรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมประมูล คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด หรือ EGCO และบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด โดยจะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 6 โรง

หากโครงการนี้บรรลุเป้าหมาย กลุ่มกัลฟ์ฯ จะมีกำลังผลิตทั้งหมดทั้งกลุ่มรวม 8,990 เมกะวัตต์ ขึ้นแท่นเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนเบอร์ 1 โรงไฟฟ้า IPP พร้อมกับวางแผน เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯระดมทุน ตามสูตรการเงินสมัยใหม่

แผนเติบใหญ่ของกลุ่มกัลฟ์ฯ ที่จะสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ พร้อมกับมีกำลังไฟฟ้าสำรองส่วนเกินเหลือเฟือ จำต้องสะดุดหยุดลงจากกระทรวงพลังงานเอง ที่เกิดเปลี่ยนท่าทีและนโยบายใหม่ โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า ค่าไฟฟ้าจากก๊าซฯมีต้นทุนที่สูง และการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ใช้ถ่านหินของ กฟผ. จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้นและทำให้อนาคตจะประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ 

กระทรวงพลังงานจึงทำการเจรจาให้กัลฟ์ฯ เลื่อนหรือชะลอการส่งไฟเข้าระบบ หรือ COD ออกไปนานกว่าข้อตกลง โดยต้องการแก้ไขเงื่อนไขในสัญญา PPA แต่เร่งการส่งไฟเข้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าเทพาแทน

ไม่มีใครเข้าใจผิดเหตุผลเบื้องหลังการเปลี่ยนท่าทีนี้ โดยเฉพาะเสียงเล่าลือที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่า กลุ่มกัลฟ์ฯนั้น ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย (ซึ่งค่อนข้างไร้สาระ)

เรื่องนี้ ทางกัลฟ์ฯไม่ยินยอม เพราะจะเสียหายยับเยิน (นอกเหนือจากการที่ไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในอนาคต) ยกเป็นคดีฟ้องร้องกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่อยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาจากศาล แต่กระทรวงพลังงานก็ยังคงยืนกรานท่าทีเดิม และหาทางเจรจาให้กลุ่ม กัลฟ์ฯ ยอมรับเงื่อนไขให้ได้

ท่าทีของกระทรวงพลังงานในกรณีกัลฟ์ฯ และโรงไฟฟ้าที่กระบี่กับเทพา เป็นท่าทีเข้าใจได้ยาก แต่หากนำไปโยงใยกับข้อเท็จจริงที่ว่าสายไฟฟ้าในระบบสายส่งของ กฟผ. จากภาคกลางไปยังภาคใต้ตอนล่าง มีขนาดเล็กและจำต้องมีการเปลี่ยนสายส่งใหม่ทั้งระบบ ซึ่งจากข้อมูลของ กฟผ. ประเมินว่าต้นทุนการเปลี่ยนสายส่งแรงสูงทั้งระบบจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท

คำถามคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ กฟผ.ไม่ต้องการเปลี่ยนสายส่งใหม่ แต่อำพรางมาลงทุนโรงไฟฟ้าที่กระบี่ (ลงทุน 4 หมื่นล้านบาท) และเทพาอีก 2 โรง (งบลงทุนรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) แทน 

คำตอบคือ ไม่มีความชัดเจน เพราะว่ายังไม่มีใครให้คำตอบที่เป็นทางการออกมา 

ความไม่ชัดเจน คือ ความไม่แน่นอน ซึ่งในมุมมองเชิงธุรกิจ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากถึงมากที่สุด 

โดยเฉพาะทิศทางของยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะหันมาใช้แหล่งพลังงาน “สกปรก” ตามจารีต แทนกระแสใหญ่ของฝูงชนที่ต้องการแหล่งพลังงาน “สะอาด” แทน ซึ่งหน่วยงานรัฐในอาเซียนหลายชาติหวนกลับมาโหมประโคมกันใหม่

ผลลัพธ์คือ ความจริงและมายาในเรื่องอนาคตพลังงานไทยปนเปกันจนแยกไม่ออก

Back to top button