มายาคติทฤษฎีกบต้ม

กลับมาอีกครั้งสำหรับทฤษฎีกบต้ม ที่เคยฮือฮาในอดีต ในยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อ 13 ปีก่อน หลังจากเงียบไปยาวนาน


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

กลับมาอีกครั้งสำหรับทฤษฎีกบต้ม ที่เคยฮือฮาในอดีต ในยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อ 13 ปีก่อน หลังจากเงียบไปยาวนาน

ครั้งนี้ คนพูดถึงคือ ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผอ.ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่ระยะหลายปีมานี้ กลายเป็นแหล่งสำหรับสร้างภาพชื่นชมรัฐบาลเผด็จการออกนอกหน้า นำโดยคนระดับอธิการบดีเสียเอง) ที่ทำการกล่าวถึงสถานการณ์ในต่างประเทศที่อาจจะกระทบต่อประเทศไทย  โดยระบุด้วยมุมมองเชิงลบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้ ไม่ใช่วิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตส้มตำ แต่เหมือนกับวิกฤตต้มกบ คือไม่ได้ใส่กบลงไปในน้ำที่กำลังเดือด เราจึงไม่รู้สึกว่ามันวิกฤต  “…สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราจะค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเศรษฐกิจโตกว่าเราเยอะ เหมือนกับรู้สึกว่าเราไม่ตายแต่เรากำลังจะตาย…”

ยังไม่ชัดเจนว่า ทฤษฎีกบต้ม (Boiled Frog Theory) จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากน้อยเพียงใด แต่การหยิบยกเอาทฤษฎีนี้ขึ้นมาวิพากษ์สถานการณ์ มีความน่าสนใจใน 2 ประเด็นคือ 1) ความน่าเชื่อถือของทฤษฎี 2) สถานการณ์จริงจะเป็นไปและสอดคล้องกับทฤษฎีมากน้อยเพียงใด

สาระสำคัญของทฤษฎีกบต้ม มาจากตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย (แต่ยังเถียงกันว่า มีจุดเริ่มต้นที่ใด) มีอยู่ว่า การทดลองศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองของกบ โดยเตรียมอ่างน้ำใบแรก ใส่น้ำร้อนเดือดจัด ใบที่สองเป็นอ่างน้ำเย็น และทำให้ค่อยๆ อุ่นขึ้นจนเดือด แล้วนำกบมา 2 ตัว เพื่อศึกษาว่า กบตัวไหนจะตายก่อน หรือตัวไหนจะรอดชีวิต

ผลปรากฏว่า กบที่ใส่ในอ่างแรก คือ อ่างน้ำเดือด ปรากฏว่า กบรอดชีวิต แต่กบที่ใส่ในอ่างน้ำอุ่นที่ค่อยๆ ร้อนขึ้นกลับตาย เพราะกบในอ่างน้ำเดือดรีบกระโดดออกทันที แต่กบที่อยู่ในน้ำเย็นที่ค่อย ๆ อุ่นขึ้นจะไม่ยอมกระโดดออกมา จึงตาย
แม้ยังไม่ชัดเจนว่า การทดลองดังกล่าวเป็นของใคร ระหว่างนักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน Friedrich Goltz หรือนักวิทยาศาสตร์ชาวไอริช Tichyand Sherman แต่ก็มีการอ้างอิงผลการทดลองตลอด 200 ปีมานี้ว่า สอดรับกับทฤษฎีกบต้มทั้งนั้น

ใน 30 ปีหลังนี้เอง มีผลการทดลองใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในหลายประเทศ ระบุว่า ทฤษฎีกบต้มไม่เป็นจริง และไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการค้นพบว่า ในอ่างใบแรก ที่ใส่น้ำร้อนจัด เมื่อโยนกบลงไป มันจะตายในทันที ไม่ทันได้กระโดดหนี หากน้ำร้อนเกิน 25 องศาเซลเซียส และในกรณีหลัง กบกลับมีโอกาสรอดมากกว่า เพราะเมื่อใดที่อุณหภูมิน้ำเพิ่มขึ้นทุกๆ 2 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 1.1 องศาเซลเซียสต่อนาที กบจะแสดงปฏิกิริยาพยายามหลบหนีจากอ่างเสมอ แต่จะหลบหนีได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

แม้จะมีผลการทดลองที่แม่นยำ แต่ความเชื่อเรื่องทฤษฎีกบต้มก็ยังถูกนำมาอ้างอิงเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์อยู่เรื่อยๆ ตามโอกาส โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการบริหารองค์กรธุรกิจ

คนที่ทำให้ทฤษฎีกบต้มกลับมาเด่นดังได้แก่ นักคิดทางด้านบริหารองค์กร (ซึ่งเคยเป็นรองเพียงแค่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์เท่านั้น) ชื่อ ชาร์ลส แฮนดี้ ชาวไอริช ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Age of Unreason ว่าด้วยแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด ขององค์กรธุรกิจในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนรอบด้าน

แฮนดี้ ให้เหตุผลว่า กบจะรอดได้ต้องไวต่อความเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เรื่องต้มกบ หรือกบต้ม เป็นการทดลองที่บ่งบอกให้เราต้องรู้จักปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว บ่อยครั้งที่เรามักจะเฉื่อยชาต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย แต่มันก็เป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง จงอย่าตายใจ

ประเด็นปัญหาของข้อเสนอแฮนดี้ มีอยู่ 2 เรื่องที่ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมหรือพ้นยุคแล้ว คือ

  • ขาดรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมเชิงปริมาณว่า องค์กรแบบไหนที่เรียกว่า พลวัตสูง มีพนักงานที่มีคุณสมบัติเด่นด้านเป็นผู้ประกอบการ และปรับตัวเก่ง เพราะข้อเสนอของแฮนดี้นั้น มีลักษณะเชิงปรัชญามากกว่า ขาดรายละเอียด เนื่องจากไม่สามารถชี้ทางออกสำหรับปัญหาเรื่องการจ้างงาน หรือประสิทธิภาพของการทำงานได้ดีเพียงพอ มีลักษณะองค์กรแบบยูโทเปียมากเกินไปกว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ
  • ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนยุคของสังคมออนไลน์ และการปฏิวัติการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่คุ้นเคยกันอย่างมาก เกินกว่าองค์กรในยุคสมัยที่แฮนดี้นำเสนอทางเลือกมากมาย ซึ่งไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

จุดอ่อนของข้อเสนอแฮนดี้ ทำให้ทฤษฎีกบต้ม กลายเป็นข้อเสนอพ้นยุคโดยปริยาย ดังนั้น การหยิบเอาทฤษฎีกบต้มมาวิพากษ์จึงมีเครื่องหมายคำถามไปโดยปริยาย ว่า เป็นการวิจารณ์แบบถอยหลังลงคลองหรืออย่างไร

กบที่ถูกต้มไม่ว่าจะโดยวิธีการไหน ก็ล้วนมีจุดจบลงด้วยโศกนาฏกรรมทั้งนั้น

การหยิบยกทฤษฎีกบต้มมาใช้ จึงมีโอกาสที่จะกลายเป็น 1) มายาคติที่ผิดยุค 2) ดาบสองคมที่สามารถย้อนกลับมาเล่นงานคนวิพากษ์ผู้อื่นด้วยทฤษฎีดังกล่าว

Back to top button