ดอกเบี้ยและค่าบาท

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2017


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2017

มติดังกล่าวเกิดจากการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวดีกว่าการประเมินครั้งก่อน โดยกนง.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 3.2% เป็น 3.4% เนื่องจากมีมุมมองว่า การใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวชัดเจน และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากผลกระทบของมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายเริ่มลดลง ในขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

มุมมองเชิงบวกมีเงื่อนไขและข้อจำกัดพอสมควร เพราะ กนง. มีมุมมองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ อย่างเช่น 1) นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ 2) เสถียรภาพการเงินจีน และ 3) ภาวะทางการเมืองและปัญหาการเงินในยุโรป

ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศด้านการเงินยังไม่สูงและเข้าขั้นอันตราย ทำให้ กนง. ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนเช่นในการประชุมครั้งก่อนหน้า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มว่าเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่ช้าลงกว่าที่คาดจากราคาน้ำมันดิบที่ชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับลดลง ซึ่งทำให้แรงกดดันของเงินเฟ้อคลี่คลายลง

มุมมองเรื่องค่าเงินบาทของ กนง. ก็ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จากความกังวลของนักลงทุนต่อการดำเนินนโยบายทรัมป์ที่อาจล่าช้า ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

มุมมองของ กนง. ถูกสถาบันการเงินเอกชนหลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร เพิ่มเติมว่า แม้ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจต่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มขยายตัวได้อย่างทั่วถึงและมีความต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนทั้งของภาครัฐและเอกชน ทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีน้อยลง

ตรงกันข้าม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมายังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อภายในปีนี้ยังไม่สูงเพียงพอที่จะนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ทำให้มีการคาดเดาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 1.5% ตลอดปี 2560

คำถามที่ท้าทายคือ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงตัวไว้ที่เดิม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระดับโลกเพิ่มขึ้นเพราะแรงกดดันของเงินเฟ้อที่เริ่มจากสหรัฐ จีน ตามมาด้วยยุโรป จะนำไปสู่การไหลออกของฟันด์โฟลว์มากน้อยแค่ไหน

นี้เป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่น้อยในปีนี้

เป็นที่ยอมรับและทราบกันดีแก่ใจมานานแล้วว่า ผลสะเทือนจากการที่ดอกเบี้ยในสหรัฐสูงขึ้น และทางอ้อมคือทำให้ค่าดอลลาร์สูง ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับตลาดหุ้นไทยเสมอมา เพราะจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสวนทางผกผันมากขึ้น

สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางลบรุนแรงรอบด้าน นับแต่เศรษฐกิจในประเทศยังย่ำแย่ แม้จะดีขึ้นกว่าปีก่อน เพราะตัวเลขส่งออกและการลงทุนเอกชนยังฟื้นตัวช้ามาก แต่การลงทุนภาครัฐคืบหน้า กำลังซื้อในภาคเกษตรอ่อนแอ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตยังผสมผสาน รวมแล้วขาดสัญญาณหนุนเชิงบวกชัดเจน จะยังครอบงำต่อไปตลอดทั้งปีนี้ได้

ข้อเท็จจริงที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่ไม่ว่าสายเหยี่ยวหรือสายพิราบยอมรับคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะต้องกระทำกันต่อไป และผลของอัตราดอกเบี้ยเฟดที่แพงขึ้น จะเร่งทำให้เงินทุนไหลเข้าสหรัฐ ปิดฉากของยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือดอกเบี้ยติดลบ อย่างเป็นทางการ

ในหลายปีมานี้ ค่าเงินบาทของไทยเผชิญกับการแข็งค่าหลายครั้งเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่กำหนดโดย กนง.สูงกว่าตลาดโลก ทำให้เกิดกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาเก็งกำไรจากการทำแครี่เทรด รวมทั้งต้นปีนี้ด้วย แต่นักวิเคราะห์ตลาดเงินหลายสำนักก็เชื่อว่า จากนี้ไปสถานการณ์จะเปลี่ยนไป เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศทรงตัวสวนทางกับขาขึ้นของดอกเบี้ยทั่วโลก ที่มีแรงกดดันจากการที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

คำถามคือ กนง.ไทยพร้อมหรือยังที่จะพิจารณาและทบทวนถึงความจำเป็นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด

ยังไม่มีคำตอบ รวมทั้งคำตอบจากคำถามพ่วงด้วยว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปีนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะแก้ไขอย่างไร

Back to top button