รัฐ 0.4 คุมไลฟ์สด

ในขณะที่แม่น้ำ 5 สายรบรากับองค์กรสื่อ ถึงขั้นจะ “ยิงเป้า” สื่อลงข่าวด่าทหาร อีกด้านก็มีความเคลื่อนไหวจาก กสทช. ที่จะเข้ามากำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ Over the Top (OTT) โดยอ้างเอาดื้อๆ ว่า บริการ OTT เฟซบุ๊กไลฟ์ ไลน์ทีวี ยูทูป เนตฟลิกซ์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและอุตสาหกรรม กสทช.จึงมีมติให้ OTT เป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมากำหนดกติกากำกับดูแล


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ในขณะที่แม่น้ำ 5 สายรบรากับองค์กรสื่อ ถึงขั้นจะ “ยิงเป้า” สื่อลงข่าวด่าทหาร อีกด้านก็มีความเคลื่อนไหวจาก กสทช. ที่จะเข้ามากำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ Over the Top (OTT) โดยอ้างเอาดื้อๆ ว่า บริการ OTT เฟซบุ๊กไลฟ์ ไลน์ทีวี ยูทูป เนตฟลิกซ์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและอุตสาหกรรม กสทช.จึงมีมติให้ OTT เป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมากำหนดกติกากำกับดูแล

นี่เป็นแนวคิดเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ เพียงแต่ไม่กระทบสื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ ทีวี เพราะมีผลบังคับกับโลกโซเชียลเท่านั้น แถมยังมีข้ออ้างว่าพวกทีวีดิจิตอลร้องเรียน ว่าเกิดการ “แข่งขันไม่เป็นธรรม”

ประมาณว่าพวกไลฟ์สดไม่ต้องเสียค่าโง่ซื้อใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นพันๆล้าน ก็สามารถทำทีวีมีคนดูมหาศาล ได้ค่าโฆษณากันเบิกบาน แหม ฟังแล้วน่าสงสาร

แต่มันคนละแพลตฟอร์มกันนี่ครับ นั่นมันทีวีดูตามบ้าน นี่มัน OTT ที่ดูผ่านเน็ตผ่านสมาร์ทโฟน จะเรียกว่าแข่งขันไม่เป็นธรรมได้อย่างไร เพียงแต่โลกมันเปลี่ยนจนคุณตามไม่ทันต่างหาก เสียค่าโง่แล้วกลับมาโวยว่าไม่เป็นธรรม

ว่าตามจริง ก็ไม่แน่ใจว่าทีวีดิจิตอลร้องเรียนจริงหรือเปล่า เพราะทีวีดิจิตอลก็ปรับตัวมาใช้ OTT กันเยอะ เช่น The Mask Singer ของเวิร์คพอยท์ ก็แพร่ภาพพร้อมกันทั้งทางทีวีและเฟซบุ๊คไลฟ์ เสร็จแล้วก็เอาไปออกยูทูบ ไม่แน่ใจว่า กสทช.เองหรือเปล่า ที่กลัวชาวบ้านดู OTT กันหมด ไม่มีคนดูทีวีตอนหกโมงเย็นและคืนวันศุกร์

กสทช.ยังมีข้ออ้างชาตินิยม ว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะเงินไหลออก ไม่เสียภาษีให้ประเทศ แถม OTT ได้ประโยชน์มหาศาลจากโครงข่าย Operator โดยไม่ต้องลงทุนสักสตางค์ เป็นการสร้างภาระให้ Operator อย่างไม่เป็นธรรม

ฟังแล้วก็เหมือนอ้างว่ารัฐอุตส่าห์ลงทุนสร้างโครงข่าย wifi ทั่วประเทศ แล้วไอ้พวกเฟซบุ๊ค ยูทูบ เนตฟลิกซ์ ไลน์ทีวี นี่แม่-ชุบมือเปิบ มาเปิดโลกใหม่ให้ใครก็เป็นสื่อได้ โดยไม่เสียค่าต๋งให้รัฐ ค่าโฆษณายังไหลออกนอกประเทศอีกต่างหาก แหม เลือดรักชาติร้อนฉ่า ปิดประเทศทำเว่ยป่อซะดีไหม

พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องคุมอะไรเลย แต่ต้องแยกแยะเป็นอย่างๆ เช่น ธุรกิจออนไลน์ที่มีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่กรมสรรพากร แล้วถ้ามีใครทำผิดกฎหมายอะไร ตั้งแต่กฎหมายลิขสิทธิ์ หลอกลวงผู้บริโภค ล่วงละเมิดสิทธิ ลามกอนาจาร ฯลฯ หรือกระทั่งความผิดทางการเมือง ความมั่นคง ผิดศีลธรรมอันดี ฯลฯ ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานแต่ละฝ่ายดูแลอยู่แล้ว เช่น สคบ. อย. ปอท. หรือกระทรวงดีอี ซึ่งก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คุมเข้ม ไม่เฉพาะ OTT แต่ทุกเว็บทุกเพจ

ถ้าอย่างนั้น กสทช.ต้องการอะไรแน่ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ กสทช.ต้องการอำนาจออก “ใบอนุญาต” เก็บค่าต๋ง รวมทั้งกำกับควบคุมเนื้อหา ให้ OTT ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.คล้ายวิทยุทีวีทั่วไป

อ้าว ไม่แน่นะ ถ้า OTT ต้องขอใบอนุญาต เนตฟลิกซ์อาจต้องถ่ายทอดรายการคืนวันศุกร์ก็ได้

แนวคิดนี้มีปัญหาแน่กับสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ ทั้งทางเนื้อหาสาระและทางธุรกิจ นี่เป็นแนวคิดเดียวกับการออกใบอนุญาตสื่อ ซึ่งต้องการจำกัดเสรีภาพทางความคิด ความรู้ การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเป็นภัยต่อรัฐแห่งความมั่นคงแบบเดิมๆ

ถามจริง รัฐ 0.4 แบบนี้ จะนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร เห็นอะไรใหม่ๆ ก็กลัวไปหมด

Back to top button