DTAC สยิวชั่วคราว ไม่ค้างคืน

ผลลัพธ์ออกมาแล้ว ในที่สุดก็เรียบร้อยโรงเรียน DTAC ตามคาดหมาย ไม่มีพลิกโผ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ผลลัพธ์ออกมาแล้ว ในที่สุดก็เรียบร้อยโรงเรียน DTAC ตามคาดหมาย ไม่มีพลิกโผ

คณะกรรมการบริษัท ทีโทที จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้คัดเลือกพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เพียงรายเดียว ที่เสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับ TOT….เพื่อให้เป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) เป็นเวลา 8 ปี โดยมีจำนวนคลื่นภายใต้สัญญาคู่ค้าคิดเป็น 60% ของคลื่นที่ทีโอทีมีอยู่ ส่วนที่เหลืออีก 40% ทีโอที จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารเอง

ตามสัญญาดังกล่าว มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่น่าสนใจดังนี้

  • รูปแบบการให้บริการ จะเป็นด้าน ทีโอที นำความจุไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) ร้อยละ 20 ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดธ์ทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) ร้อยละ 20 เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวนร้อยละ 60
  • คู่ค้าที่เป็นพันธมิตร (บริษัทย่อยในเครือของ DTAC เป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G/LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตช์ เต็มทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งและเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้นจะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ภายใน 1 ปีหลังจากเลือกบริษัทคู่ค้าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์และเริ่มให้บริการภายใน 1 ปี
  • ข้อเสนอของกลุ่ม DTAC ระบุว่า บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที ขณะที่บริษัท ดีเทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะรับซื้อความจุโครงข่าย 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมดจำนวน 60 MHz โดยส่วนหนึ่งของข้อเสนอคือ เสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอที เป็นจำนวนปีละ 4,510 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขบางประการ
  • กลุ่มบริษัท DTAC จะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีโอที และคาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติและเข้าทำสัญญาได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2560

การได้รับการคัดเลือกจากทีโอที ให้เป็นพันธมิตรคู่ค้าของ ทีโอที คราวนี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะปลดล็อกแรงกดดันได้บางส่วน…อย่างน้อย DTAC ก็มีท่อออกซิเจนต่อลมหายใจ อย่างน้อยก็ในช่วงไม่เกิน 8 ปี

ท่ามกลางคำถามว่า ต้นทุนลมหายใจถึงปีละ 4,510 ล้านบาท คุ้มค่าในการลงทุน…. หรือไม่

คำตอบคือในทางการเงินอาจจะไม่คุ้ม แต่ในทางยุทธศาสตร์ธุรกิจ สำคัญยิ่งเพราะเสมือนสร้างป้อมปราการด่านสุดท้ายได้สำเร็จ เนื่องจากหากไม่ได้ จะเสียหายยับเยิน ..ถึงขั้นต้องออกจากเวทีการแข่งขันทางธุรกิจไปเลย

มีนักวิเคราะห์ระบุว่าหากไม่ได้เป็นคู่ค้า ความเสียหายที่จะเกิดกับ DTAC จะมาจาก 2 ทาง คือ  1) สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากที่มีคลื่นน้อยกว่าคู่แข่ง หลังสัมปทานสิ้นสุดในไตรมาส 3 ในปี 2561 ซึ่ง DTAC จะเหลือเพียงคลื่น  2100 แค่ 15 MHz แต่คู่แข่งมีคลื่นอยู่รายละ 55 MHz  2) แรงกดดันที่จะต้องชนะในการประมูลรอบหน้าของ กสทช.ปี 2561 จะมีต้นทุนมหาศาล

ข้อเท็จจริงนี้ ทำให้เมื่อเดือนเมษายน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า การเป็นคู่ค้าของทีโอที เป็นยิ่งกว่า “ความจำเป็น” เพราะต้องมีคลื่นความถี่ใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ปัจจุบันจำนวน 35 MHz ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2561 ตามสัญญาสัมปทาน ในขณะที่คลื่นความถี่ 2100 จำนวน 15 MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต ไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา DTAC เพิ่งถูก TRUE แซงหน้าคว้าส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองของตลาดไปเรียบร้อยแล้ว การได้เป็นพันธมิตรนี้ จึงเป็นการ “ซื้อเวลาช่วงขาลง” ชั่วคราว

แต่…ความเสี่ยงยังไม่หายไป เพราะยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา ท่ามกลางมรสุมรุมเร้าจากกำไรที่ลดฮวบมาจากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทาน และลูกค้าที่ถูกคู่แข่งแย่งไปต่อเนื่อง

แรกสุด เครื่องโทรศัพท์ลูกข่ายที่ใช้กับคลื่นความถี่ 2300 MHz ยังมีจำนวนน้อยในตลาดเมืองไทย ดังนั้นในการทำการตลาด DTAC ต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องที่สูงเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ใหม่…นอกเหนือจากต้องลงทุนเพิ่มในเครือข่าย …อาจทำให้กำไรลดลง

ความเสี่ยงต่อไปคือ คลื่นความถี่ที่ยังมีน้อยเกิน ทำให้ DTAC ยังต้องมีภาระจ่ายเงินเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 รองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G อยู่

งานนี้ จะบอกว่า ได้เฮแค่ชั่วคราว แต่ระยะยาว หรือค้างทั้งคืน..ยังไม่แน่ เพราะอาจจะทำไม่ได้

“อิ อิ อิ”

X
Back to top button