คนสีซอบนหลังคา

ศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะยังบวกทำนิวไฮต่ออีกวัน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเปิดเผย ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 2.6% ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 1.2% ในไตรมาสแรก ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่ดอลลาร์ก็ยังคงโงหัวไม่ขึ้น 


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะยังบวกทำนิวไฮต่ออีกวัน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเปิดเผย ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 2.6% ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 1.2% ในไตรมาสแรก ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่ดอลลาร์ก็ยังคงโงหัวไม่ขึ้น 

ปัจจัยใหม่ที่ถ่วงรั้งขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น ยังมาจาก แรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ หลังจากคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาเกิดการพลิกผันใหม่ เมื่อ วุฒิสภาสหรัฐฯซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ลงมติคัดค้านการล้มเลิกใช้กฎหมายประกันสุขภาพฉบับโอบามาแคร์ ด้วยคะแนนเสียง 49-51 ผลลัพธ์คือไม่สามารถนำร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่มาบังคับใช้แทนที่โอบามาแคร์ สร้างความเคลือบแคลงให้กับนักลงทุน (อีกครั้ง) ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถผลักดันนโยบายด้านภาษีและการคลัง ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่

สำหรับนักลงทุน ความไม่แน่นอนเลวร้ายกว่าความเสี่ยงเสมอ เพราะความไม่แน่นอนคาดเดาอนาคตได้ยากมาก

ทฤษฎีการลงทุนที่โด่งดัง ที่เรียกว่า Modern Portfolio Theory-MPT ) ซึ่งคิดค้นโดย แฮรี่ มาร์โกวิทส์ ระบุว่า ความเสี่ยงและผลกำไรที่คาดหมายในอนาคต แม้อาจจะมีผลลัพธ์ไม่ตรงกัน แต่ในภาพรวมแล้ว ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยง และผลตอบแทนควบกันเสมอ

บทสรุปของทฤษฎีที่ว่า การลงทุนที่ชาญฉลาดจะต้องตั้งเป้าหมาย “กำไรที่เป็นไปได้มากที่สุด ไม่ใช่กำไรสูงสุด”  เพราะบนฐานการประเมินแล้ว กำไรที่เป็นไปได้ แปรเปลี่ยนอย่างเลวสุดคือขาดทุนที่เป็นไปได้เช่นกัน

วิธีการทำให้มีกำไรที่เป็นไปได้ อยู่ที่การสร้าง “พรมแดนที่มีประสิทธิภาพ” ด้วยการประเมินกำไรที่หักกลบด้วยปัจจัยเสี่ยงสารพัด ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ (หรือปัจจัยเสี่ยงที่เป็นระบบ) กับที่ควบคุมไม่ได้ (หรือไม่เป็นระบบ)

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นระบบนั้นคือปัจจัยที่นักวิเคราะห์ใช้เป็นตำราทั่วไป เพื่อให้คำชี้แนะ “ซื้อ-ถือ-ขาย” กับนักลงทุนทั่วไป เช่นค่าสัญญาณเทคนิคทั้งหลายแหล่ อาทิ ค่าอัลฟ่า ค่าเบต้า ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน R-squared และสัดส่วนชาร์พ (Sharpe ratio)

ส่วนปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากที่เป็นระบบ ล้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบทั้งสิ้น แต่รายละเอียดของแต่ละปัจจัย แล้วแต่ละเงื่อนไขของสถานการณ์

ปัจจัยเสี่ยงจากการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงไม่เป็นระบบและควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงประเมินผลกระทบในแต่ละเรื่องค่อนข้างยากเพราะมีรายละเอียดที่ต่างกัน

การเมืองอเมริกัน เป็นแค่กรณีศึกษาที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น ในภาพรวมที่ชัดเจน

ส่วนการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีผลกระทบที่ไม่มากนัก

เช่นเดียวกัน กรณีการเมืองไทยในการ “ไล่ล่าล้างบางชินวัตร” โดยไม่ใส่ใจกับต้นทุนใดๆ ก็เป็นสิ่งที่มีความหมายและเป็นปัจจัยไม่เป็นระบบที่มีผลสะเทือนรุนแรง

ศุกร์ที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้ การชี้ขาดเรื่องความผิดของคนกุมนโยบายรับจำนำข้าว 2555-57 ได้เป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ขาขึ้นของดัชนีไปสู่แนวต้าน 1,590 จุด มีขีดจำกัดที่ยากจะฝ่าข้ามไปได้ เพราะความเสี่ยงในคำวินิจฉัยของตุลาการ ค่อนข้างชัดเจนพอคาดเดา (ทั้งที่ไม่ควรกระทำ)

ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนดังกล่าวเทียบได้กับสถานการณ์ของเทฟเย่ ชาวยิวคนส่งนม ในนิคมยิวชายแดนรัสเซีย-โปแลนด์ในเรื่องสั้นของชาลอม อเลเคม ที่กลายมาเป็นละครบรอดเวย์และภาพยนตร์ฮอลลีวูด คนสีซอบนหลังคา หรือ Fiddler on the roof

แก่นแกนของเรื่องกล่าวคือสถานการณ์ที่คุกคามวิถีชีวิตที่มากเกินกว่า การละทิ้งจารีตตามปกติของคนวัยหนุ่มสาว แต่เป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัย ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้คนส่วนหนึ่หันรีหันขวางเพราะทำตัวไม่ถูก และไม่เข้าใจสถานการณ์

ค่าดอลลาร์ที่อ่อนแอต่อเนื่องยามนี้ ชวนให้งุนงงพอสมควร เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางปัจจัยบวกสารพัด นับแต่ การจ้างงาน ราคาน้ำมันดิบ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวเร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 2 จากแรงหนุนของการใช้จ่ายผู้บริโภค (ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักและมีสัดส่วนขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8% หลังจากที่ขยายตัว 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า) และการลงทุนของภาคธุรกิจในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่แข็งแกร่ง

แม้การอ่อนค่าของดอลลาร์จะเป็นผลดีบางส่วนต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น เพราะทำให้ดัชนีประคองตัวในระดับสูงได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย คือ บริษัทส่งออกจำนวนมากจะปรากฏตัวเลขขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสสอง และสามที่จะถึง เนื่องจากบาทแข็งค่า ผลลัพธ์ที่ตามมาหนีไม่พ้นค่าพี/อีของตลาดที่จะแพงเกินสมควร ในระยะต่อไป ทำให้ดัชนียากจะขึ้นฝ่าแนวต้านเหนือ 1,600 จุดได้

ผลพวงที่เกิดขึ้นลุกลามไปถึงราคาเทรดวันแรกของหุ้น IPOs หลายรายการในปีนี้ บ่งบอกถึงอารมณ์เปราะบางและระแวดระวังอย่างเข้มงวดของนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่ส่วนใหญ่หันมาถือคติ “เล่นสั้นขยันซอย” และ “กำไรน้อยดีกว่าติดดอย” อย่างมาก

ภาวะ “คนสีซอบนหลังคา” ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง จะปรากฏให้เห็นชัดเจนทั้งในตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสามและสี่

คำถามคือ การตกลงมาจากหลังคา กับการสีซอที่หาความไพเราะไม่ได้ นักลงทุนจะเลือกอย่างไหน สัปดาห์นี้ไป น่าจะเป็นช่วงเวลาชี้ขาดอีกครั้ง ว่าระหว่าง 1,600 จุดหรือ 1,550 จุด อย่างไหนจะถึงก่อนกัน

Back to top button