ปาหี่ค่าเงินบาท?

การออกโรงของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เป็นครั้งล่าสุด แต่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ถือเป็นเรื่องมองต่างมุมตามปกติ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การออกโรงของรัมนตรีและปลัดกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เป็นครั้งล่าสุด แต่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ถือเป็นเรื่องมองต่างมุมตามปกติ

หากจะมีความไม่ปกติเกิดขึ้น ก็คือเกิดมีความเห็นทางเดียวกันต่างหาก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ว่า กระทรวงการคลังมีความเป็นห่วงและแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพราะค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และบอกว่า “ธปท.รับทราบข้อห่วงใยดังกล่าวแล้ว และกำลังมีมาตรการแก้ไข”

นายอภิศักดิ์ระบุต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีมาตรการหลายอย่าง เพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป ด้วยการออกมาตรการเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้นิติบุคคลต่างประเทศที่ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่เป็นสกุลเงินบาท (บาทบอนด์) ในประเทศ สามารถแลกกลับเป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อเวลานำเงินออกนอกประเทศไทยได้ เพื่อบรรเทาไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป และช่วยให้เกิดความสมดุลในปริมาณการไหลเข้าออกของเงินทุน

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เจ้าของทฤษฎี เห็บสยาม กล่าวเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่ามานานแล้ว ทำให้เงินเฟ้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไร และเสนอว่า นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังควร “เดินไปด้วยกัน” เพราะจะปล่อยให้กระทรวงการคลังฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวคงไม่ได้

หมัดเด็ดลับของคลังคือ คำพูดที่ว่า “ที่ผ่านมาแบงก์ชาติปล่อยให้เงินแสนล้านเข้ามาได้อย่างไร จะเอามาสร้างโรงพยาบาลหรือ”

ข้อเสนอของทางกระทรวงการคลังได้รับการตอบโต้ทันควันย่างสิ้นเยื่อใยจาก ธปท. ที่ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับเหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอ เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะข้างหน้า หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้น จะมีผลจำกัด และ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

ธปท.ยืนกรานท่าทีเดิมว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นขณะนี้ ยังมีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย

ท่าทีของ ธปท.ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในอดีต สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2556  ค่าเงินบาทแข็งค่ารุนแรงจากการไหลเข้าของทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ไหลเข้ามาเกินขนาดทำนองเดียวกับปัจจุบัน จนผู้ส่งออกเดือดร้อนหนัก เพราะทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูง สวนทางกับการที่ชาติต่างๆ กำลังตั้งหน้าตั้งตาลดดอกเบี้ยลงเพื่อให้ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนลง จนมีความกังวลว่าโลกจะเกิดสงครามค่าเงิน ทำให้มีข้อเรียกร้องให้แบงก์ชาติใช้ดอกเบี้ยยืดหยุ่นมากขึ้น

ข้อเรียกร้องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ใช้นโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในขณะนั้น ได้รับการเมินเฉยจากผู้บริหารแบงก์ชาติ โดยอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ “เป้าหมายเงินเฟ้อ” เช่นเดียวกัน และก็ยังยืนยันว่า  ธนาคารกลางมีพันธกิจในการยึดถือหลักการสร้างเสถียรภาพทางตลาดเงินมากกว่าอย่างอื่น

จากนั้น ผู้บริหารของ ธปท.ก็งัดเอาสูตรป้องกันตัวสารพัดนึกมาใช้ โดยอ้างว่าแบงก์ชาติมีความชอบธรรมในการรักษาความเป็นอิสระของนายธนาคารกลาง

เหตุผลในขณะนั้นของแบงก์ชาติคือ การลดดอกเบี้ยจะทำให้กำลังซื้อในตลาดเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะภาคส่วนที่แบงก์ชาติไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือ หนี้สินภาคครัวเรือน) ส่งให้ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการทำสงครามค่าเงิน

ความน่าสนใจของวาทกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ที่ ผู้บริหารแบงก์ชาติในขณะนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน จากกลุ่มคนในวงธนาคาร-การเงิน ธุรกิจเอกชน นักวิชาการ เทคโนแครตภาครัฐ และสื่อมวลชน ในฐานะ “พระเอก” ของการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็น “ผู้ร้าย” ที่เป็นตัวแทนของประชานิยมอันน่ารังเกียจ

ความศักดิ์สิทธิ์ระดับ “ขึ้นหิ้งบูชา” ของเสถียรภาพทางการเงิน ที่ถูกตีความว่ามีความสำคัญมากกว่ารายได้จากการส่งออกของประเทศ  ในห้วงยามที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างย่ำแย่ สินค้าโภคภัณฑ์ราคาตกต่ำ และคู่ค้าหลายประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  จึงเป็นความย้อนแย้งทางนโยบายที่ซ้ำซากซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังสามารถปะทะกันทางความคิดได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

เครื่องมือดอกเบี้ย เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีผลข้างเคียงระยะสั้น แต่ต้องใช้ควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ด้วยเพื่อให้เสถียรภาพและอัตราการเติบโตเคียงคู่กันไป

ยามนี้ สัญญาณชัดเจนจากเฟดฯที่ยืนยันว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังปีนี้อีก มีส่วนทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง และบาทแข็งค่าขึ้นโดยกลไกการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา การปะทะทางนโยบายระหว่างกระทรวงการคลังและธปท. น่าจะมีความเข้นข้นและแหลมคมมากยิ่งขึ้นในระดับมากกว่าปกติ

เว้นเสียแต่ความเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลังและ ธปท.ยามนี้ จะเป็นแค่ปาหี่เพื่อฆ่าเวลาสลับฉากเท่านั้น

Back to top button