เฟสใหม่การเมือง

ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป แรงกดดันจะโถมเข้าใส่รัฐบาลหลายด้าน หลังจากอั้นไว้พักใหญ่


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง   

ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป แรงกดดันจะโถมเข้าใส่รัฐบาลหลายด้าน หลังจากอั้นไว้พักใหญ่

ในส่วนพรรคการเมือง ก็เริ่มเรียกร้อง คสช.ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมได้ เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ต.ค. พรรคการเมืองต้องจัดประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ จัดทำนโยบาย เลือกกรรมการบริหารใหม่ หาสมาชิกพรรค ให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุง ตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัด ฯลฯ ภายใน 180 วันซึ่งขณะนี้ผ่านไป 20 กว่าวันแล้ว

ถ้าปลดล็อกช้า ถ้ายังกีดกัน ก็จะถูกตั้งแง่ว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมทันเลือกตั้งปลายปี 61 ตามคำมั่นสัญญา

ในส่วนกระแสวิจารณ์ ก็มีกระทู้ค้าง เรื่องจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว “ฝังเพชร” เครื่องละ 6.75 แสนบาท โดยรัฐมนตรีมหาดไทยซวนเซมาแล้วจาก GT200 เรือเหาะ และให้เช่าป่าสาธารณะ

แถมมีเรื่องการตั้งรองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ที่ตั้งลูกสาวมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นเลขาฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ เงินเดือน 47,500 บาท ซึ่งอันที่จริงก็ตั้งมาตั้งแต่ปี 57 แต่ช่วงนี้รัฐธรรมนูญปู่มีชัยคงปลุกให้คนตื่นตัวเรื่องการปฏิรูป เรื่องจริยธรรม 7 ชั่วโคตร ฯลฯ มากไปหน่อย

ในภาคประชาสังคม NGO เพิ่งคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ จู่ๆ ลุงตู่ก็ประกาศ ม.44 งดใช้ผังเมือง 3 จังหวัดในเขต EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี โดยประกาศวันที่ 25 ต.ค.ก่อนมีพระราชพิธีวันเดียว ทำให้ NGO โกรธเกรี้ยว มองกันว่าเป็นเพราะโครงการมาบตาพุดเฟสสามที่มีการถมทะเลจะไม่ผ่าน EHIA เพราะขัดผังเมืองเดิม จึงต้องใช้ ม.44 ยกเลิกผังเมือง

ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลยังเป็นเรื่องปากท้อง แม้ยืนยันว่าเศรษฐกิจดี ตัวเลขส่งออกเพิ่ม ความเชื่อมั่นสูงขึ้น แต่อานิสงส์ยังไม่ตกถึงปากท้องประชาชน หนำซ้ำ ยังถูกซ้ำเติมจากภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม ซึ่งแม้ลดเหลือ 17 จังหวัด แต่พื้นที่ทุ่งรับน้ำ เช่นแถวพระนครศรีอยุธยาฝั่งตะวันตก ก็โวยว่าน้ำท่วมมาหลายเดือนโดยไม่มีใครเหลียวแล มีแต่คำขอบคุณ 12 ทุ่งรับน้ำ ขณะที่ปัญหาราคาพืชผลก็ยังมีเป็นระลอก ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.โวยว่าราคายางพาราตกเหลือ 40 บาท เพราะรัฐบาลไม่เอาใจใส่จริงจัง

ไล่เรียงปัญหาอย่างนี้ ไม่ใช่มุ่งมองแต่แง่ร้ายไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจะไปไม่รอดเพียงมีข้อสังเกตว่าการเมืองกำลังจะเข้าสู่เฟสใหม่ ภายใต้ 3-4 ปัจจัย

หนึ่ง ยิ่งลักษณ์จบแล้ว ชินวัตรจบแล้ว ทั้งทนายความและอัยการไม่อุทธรณ์คดีจำนำข้าว อาจเหลือคดีโอ๊คประปราย แต่ในทางการเมืองทุกฝ่ายรู้ว่าชินวัตรกลับมาไม่ได้

สอง เมื่อนับถอยหลังสู่เลือกตั้ง ทุกฝ่ายจับจ้องไปที่นายกฯ คนนอก ใครเป็นเป้าหมายใหม่ ไม่ต้องบอกก็รู้กัน แรงเสียดทานสูงตั้งแต่ตอนนี้ แม้กระทั่ง ปชป.ก็จะวิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น

สาม การเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐประหารไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องจัดระเบียบใหม่ บางคนอาจหลุดวงโคจร บางคนได้ไปต่อ ซึ่งก่อแรงกระเพื่อมในหมู่คนวงใน

สี่ ความเคลื่อนไหวในหมู่ประชาชน NGO สื่อ นักวิชาการ แม้ไม่ถึงกับสลับขั้ว แต่จะมีจุดร่วมมากขึ้น ในด้านที่ไม่พอใจความเหลื่อมล้ำ “ทุนประชารัฐ” ไปจนความไม่ไว้วางใจอำนาจ การใช้งบประมาณ และความมีอภิสิทธิ์ต่างๆ

จากนี้ไปถึงเลือกตั้ง ยังมีอีกหลายขั้น แต่ละขั้น ความกดดันทางการเมืองจะหนักหน่วงขึ้น มันไม่ง่ายเหมือนที่คิดกันว่า มีเลือกตั้งแล้วก็รอเป็นนายกฯ รับเชิญ

Back to top button