ลาฟาร์เย่โฮลซิม

2 ปีก่อน มีการควบรวมกิจการซีเมนต์ข้ามชาติที่ใหญ่สุดในโลก 2 รายการ คือ กลุ่มลาฟาร์เย่ (Lafarge) ของฝรั่งเศส และโฮลซิม (Holcim) ของสวิส ผลการควบรวม ที่กลายเป็นลาฟาร์เย่โฮลซิม (LafargeHolcim) ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างกิจการที่ซับซ้อนตามมา รวมทั้งการขายกิจในหลายประเทศเพราะเข้าข่ายครอบงำเหนือตลาด เป็นหนึ่งในทุกขลาภที่ต้องเผชิญ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

2 ปีก่อน มีการควบรวมกิจการซีเมนต์ข้ามชาติที่ใหญ่สุดในโลก 2 รายการ คือ กลุ่มลาฟาร์เย่ (Lafarge) ของฝรั่งเศส และโฮลซิม (Holcim) ของสวิส ผลการควบรวม ที่กลายเป็นลาฟาร์เย่โฮลซิม (LafargeHolcim) ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างกิจการที่ซับซ้อนตามมา รวมทั้งการขายกิจในหลายประเทศเพราะเข้าข่ายครอบงำเหนือตลาด เป็นหนึ่งในทุกขลาภที่ต้องเผชิญ

ทุกขลาภยังไม่สิ้นสุด เพราะเดือนเมษายนปีที่แล้ว บริษัทลาฟาร์เย่โฮลซิมในซีเรีย ซึ่งมีโรงงานในเขตปกครองในเขต Jalabiya ทางตอนเหนือของซีเรียถูกตรวจพบว่า ได้จ่ายค่าคุ้มครองบางส่วนให้กับกองกำลังหลายกลุ่ม เพื่อให้ละเว้นการโจมตีเขตโรงงานซีเมนต์ มูลค่าลงทุน 680 ล้านดอลลาร์ เพื่อจะได้ทำการผลิตต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า รักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานตามปกติ เพราะเป็นเรื่องน่าเห็นใจ สำหรับบริษัทที่มีพนักงานทั่วโลก 80 ประเทศ มากถึง 8 หมื่นคน

เหตุผลดังกล่าวพอเข้าใจได้ หากว่ากองกำลังที่รับเงิน “ค่ายกเว้นปฏิบัติการ” ในเขตสู้รบรุนแรงเมื่อปี 2011 นั้น จะไม่ถูกระบุจากรัฐบาลในโลกตะวันตกว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ผลลัพธ์จึงทำให้การจ่ายเงินให้กองกำลังของลาฟาร์เย่โฮลซิม เข้าข่ายความผิดร้ายแรงพร้อมกันคือ 1) ฟอกเงิน 2) อุดหนุนพวกก่อการร้าย และต่อมา โดนเพิ่มอีกกระทงหนึ่ง ได้สนับสนุนอาชญากรรมต่อต้านมนุษยธรรมและทำอันตรายต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์ในซีเรีย

ผู้บริหารของลาฟาร์เย่โฮลซิมยอมรับแบบ “สารภาพลดครึ่งราคา” ว่าได้จ่ายเงินจริง แต่โรงงานดังกล่าวปิดดำเนินการไปแล้ว เพื่อประโยชน์ของพนักงาน

ยิ่งยอมรับ ยิ่งถูกสอบสวนมากกว่าเดิม และสถานการณ์ก็ทรุดหนักกว่าเดิม

ตลอดปี 2560 ผู้บริหาร 8 คนของลาฟาร์เย่โฮลซิมถูกสอบสวนอย่างหนัก ทำให้ ทุกคนที่ถูกสอบกดดันอย่างหนัก ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะความผิดตามข้อกล่าวหานั้นอยู่ภายใต้กติกาอันเข้มข้นของ FATF (​Financial Action Task Force on Money Laundering)

FATF หมายถึง คณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน พัฒนา และส่งเสริมนโยบายเพื่อการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ทุกประเทศภายใต้ภาคี FATF ถูกข้อกำหนดทั่วไปว่า จะต้องปฏิบัติการตามสิ่งที่เรียกว่า FATF Recommendations หรือข้อแนะนำการดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และแต่ละปี จะต้องเข้ารับการประเมินจาก FATF ว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการขาดการควบคุม, มีกฎหมายไม่แข็งแกร่งเพียงพอในการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินต่อการก่อการร้ายมากน้อยเพียงใด

แรก ๆ สุด ผู้บริหารของลาฟาร์เย่โฮลซิม พยายาม “ฆ่าตัดตอน” ว่าความผิดที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหารโรงงานท้องถิ่นในซีเรีย ที่สำนักงานใหญ่ไม่เคยเกี่ยวข้อง และเมื่อทราบเรื่องก็จัดการปัญหาดังกล่าวทันทีไม่รั้งรอ

เรื่องไม่ได้จบง่าย ๆ เพราะการสอบสวนความผิด เรื่องการอุดหนุนก่อการร้ายและการฟอกเงินยังคงดำเนินต่อไป

ล่าสุด นายเอริค โอลเสน ซีอีโอใหญ่สุดของลาฟาร์เย่โฮลซิม ประกาศลาออกจากตำแหน่งอีกคน

จากนี้ไปลาฟาร์เย่โฮลซิม จะเป็นองค์กรไร้หัว เพราะความยากลำบากมาเยือนเสียแล้ว บริษัทซีเมนต์ใหญ่สุดของโลกกำลังถึงวันจะล่มสลายจากฝีมือตนเอง และปัจจัยที่เกิดจากภายใน ที่สวนทางกับกรงเล็บมาตรการระหว่างประเทศ ที่ยากจะเลี่ยงพ้น

คำถามว่า สำหรับเมืองไทย การขายหุ้นปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC จากมือของโฮลซิม กลับไปสู่มือของกลุ่มเดิม คือตระกูลรัตนรักษ์ มีคำถามว่าจะโยงไปถึงกรณีนี้หรือไม่

คำตอบง่ายมากว่า คงไม่ใช่ประเด็น

Back to top button