ธนาคาร “เก็บทุกเม็ด”.!

ถ้าจะดูว่าแบงก์ไหนมีผลประกอบการดีหรือไม่..? หลัก ๆ ต้องดูจาก 2 อย่างคือ ยอดการปล่อยสินเชื่อและหนี้เสีย (NPL) หากแบงก์ไหนยอดปล่อยสินเชื่อเติบโต แต่หนี้เสียพุ่งตามไปด้วย นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะหมายถึงสินเชื่อที่ปล่อยไปมีโอกาสสูงที่ลูกค้าไม่สามารถชำระคืนได้ และจะกลายเป็นหนี้เสียไปในที่สุด


สำนักข่าวรัชดา

ถ้าจะดูว่าแบงก์ไหนมีผลประกอบการดีหรือไม่..? หลัก ๆ ต้องดูจาก 2 อย่างคือ ยอดการปล่อยสินเชื่อและหนี้เสีย (NPL) หากแบงก์ไหนยอดปล่อยสินเชื่อเติบโต แต่หนี้เสียพุ่งตามไปด้วย นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะหมายถึงสินเชื่อที่ปล่อยไปมีโอกาสสูงที่ลูกค้าไม่สามารถชำระคืนได้ และจะกลายเป็นหนี้เสียไปในที่สุด

แต่ถ้าแบงก์ไหนสามารถบริหารหนี้เสียได้ดี คุมให้อยู่ในระดับต่ำได้ ก็หมายถึงผลกำไรที่จะตามมา (อันนี้คงทำให้นักลงทุนอุ่นใจ)

ที่ผ่านมาแบงก์จะใช้ 2 แนวทางในการบริหารหนี้เสีย คือ ถ้าไม่บริหารเอง ก็ตัดขายให้บริษัทรับบริหารหนี้ไป เช่น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT (บริษัทลูกของ JMART), บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เป็นต้น ส่วนใหญ่แบงก์มักเลือกใช้วิธีตัดขาย เพราะไม่ยุ่งยากในการบริหารจัดการ

แต่ต้องแลกมากับการขายในราคาถูก บางครั้งต้องให้ราคาดิสเคาต์สูงถึง 80-90% เลยทีเดียว (ไม่น่าแปลกใจที่บริษัทรับบริหารหนี้ต่างมีกำไรค่อนข้างสูง หากดูผลประกอบการบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ทุกบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด)

ทว่า..เมื่อแบงก์เริ่มมองว่าการตัดขายหนี้เสียไม่คุ้มอีกต่อไป ปี 2562 จึงเห็นเทรนด์ของแบงก์ ที่จะนำหนี้เสียมาบริหารเองมากขึ้น (แบงก์คงไม่อยากให้เงินรั่วไหลไปให้ใครอีกแล้ว..!?)

กลยุทธ์ในการบริหารหนี้เสียเองนั้น หากแบงก์ไม่บริหารเองโดยตรง จะใช้วิธีตั้งบริษัทลูกขึ้นมา แล้วตัดขายหนี้เสียให้บริษัทลูกไป ข้อดีของการตัดขายหนี้เสียให้บริษัทลูก คือ ไม่ต้องขายหนี้เสียในราคาที่ดิสเคาต์สูงมากนัก และพอบริษัทลูกบริหารแล้วมีกำไร ก็จะมีรายได้กลับเข้ามาสู่แบงก์ด้วย

เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวสินะ !!!

ที่เห็นออกมาประกาศเป็นเจ้าแรก เห็นจะเป็นค่ายสีเขียว ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ “เสี่ยปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ ออกมาพูดเสียงดังฟังชัดว่าปี 2562 นี้ KBANK จะบริหารหนี้เสียเอง แทนการตัดขายให้บริษัทรับบริหารหนี้ต่าง ๆ (ส่งผลให้ราคาหุ้น KBANK ร่วงทันที เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกกับแผนดังกล่าว จึงเทขายหุ้นกันมือระวิง แม้ภายหลังผู้บริหารจะออกมายืนยันว่าแนวทางดังกล่าว จะทำให้แบงก์ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด)

ตามมาด้วยค่ายสีฟ้า ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่มีหนี้เสียค่อนข้างสูง “ผยง ศรีวณิช” ซีอีโอแบงก์ออกมาบอกว่า นอกจากจะตัดขายหนี้เสียออกเป็นระยะ ๆ แล้ว ยังมีแผนจะนำหนี้เสียมาบริหารเองเหมือนกัน

ล่าสุด ค่ายสีน้ำเงิน ธนาคารทหารไทย (TMB) เตรียมบริหารหนี้เสียเอง โดยได้ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์พหลโยธิน จำกัด (New AMC) เพื่อซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินต่าง ๆ…ประเดิมด้วยการรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด (PAMC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TMB

แต่กรณีของ TMB จะพิเศษกว่าแบงก์อื่น ๆ ตรงที่ขาเม้าท์ฟันธงว่า นี่เป็นการเคลียร์ตัวเองให้สะอาดหมดจด ก่อนที่จะควบรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK) ในกลุ่มบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ที่หลายคนเชื่อว่าดีลนี้เกิดขึ้นแน่ แต่จะเป็นเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้…ขอให้จับตาดูไว้ดี ๆ

ส่วนกลยุทธ์เก็บทุกเม็ดของแบงก์จะช่วยเพิ่มรายได้และกำไรให้กับแบงก์ ตามที่บรรดานายแบงก์ออกมานั่งยันยืนยันได้มากน้อยแค่ไหน

อันนี้ก็ไม่รู้สินะ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button