หนังสือที่ต้องอ่าน

ความพยายามขายความกลัว “ผีทักษิณ” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามที่ตนเองคิดจะต่ออายุในตำแหน่งแห่งอำนาจผ่านกติกาใหม่หลังเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก และการแนะนำคนไทยให้อ่านหนังสือ ดร.ไสว บุญมา ที่มุ่งโจมตีทักษัณโดยเฉพาะ และ ขายไม่ออก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน เพราะคนที่อ่านหนังสือเฉพาะที่ตนเองชื่นชอบอย่างเดียว ย่อมมีแนวโน้มจิตใจคับแคบเป็นสรณะ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ความพยายามขายความกลัว “ผีทักษิณ” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามที่ตนเองคิดจะต่ออายุในตำแหน่งแห่งอำนาจผ่านกติกาใหม่หลังเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก และการแนะนำคนไทยให้อ่านหนังสือ ดร.ไสว บุญมา ที่มุ่งโจมตีทักษัณโดยเฉพาะ และ ขายไม่ออก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน เพราะคนที่อ่านหนังสือเฉพาะที่ตนเองชื่นชอบอย่างเดียว ย่อมมีแนวโน้มจิตใจคับแคบเป็นสรณะ

จริง ๆ แล้ว หนังสือเล่มหนึ่งที่ยามนี้พลเอกประยุทธ์ และคนไทยที่สนใจการข่าวสารบ้านเมืองควรอ่านมากสุดคือ The Prince  ซึ่งเขียนขึ้นมาราวเกือบ 600 ปีแล้วโดยนิโคโล มาคิอาเวลลี ชาวอิตาเลียนแห่งยุคเรเนสซองส์นั่นเอง

หนังสือเล่มนี้ มาคิอาเวลลี มุ่งมั่นที่จะแก้ป็ญหาของอิตาลีในขณะนั้นโดยต้องการจะรวมอิตาลีให้เป็นรัฐเดียวกันให้ได้ (อิตาลีแตกแยกเป็น 6 นครรัฐ) ดังนั้นงานเขียนของเขาจึงสะท้อนให้ เจ้าผู้ปกครองร่วมสมัยใช้อำนาจอย่างอิสระ เพื่อให้รัฐอยู่รอด และกล่าวหาว่าการแตกแยกของอิตาลีเป็นเพราะศาสนจักรคาทอลิกหรือสันตะปาปาแห่งวาติกัน

งานเขียนของมาคิอาเวลลี เป็นการนำประวัติศาสตร์ที่เขาเห็นมาวิเคราะห์กับการเมือง กฎต่าง ๆ บางครั้งเขาเขียนให้เจ้าเลือกที่จะหาวิธีที่เหมาะสมเองโดยปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ และขึ้นกับภูมิของผู้อ่านเองด้วยเพราะว่าภาษาที่ใช้ในงานเขียนมีบางตอนไม่ชัดเจนอยู่บ้าง เพราะคนเขียนใช้สำนวนลีลาเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความหมายที่ตรงเกินไป และเขารู้ว่าผู้อ่านอยู่ในระดับที่สูงกว่า ตามวิธีการของทูต

สาระสำคัญหลักของหนังสืออยู่ที่บทที่ 3-14 ที่มุ่งเน้นประเด็นสำคัญคือ

ใช้มุมมองที่เป้าหมาย (End) มากกว่าวิธีการ (Means) เขาเป็นคนที่คิดว่าควรจะได้มาในสิ่งที่ต้องการไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม ไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรม

– การเมืองของรัฐต้องมีอำนาจและแยกออกจากศาสนา สันตะปาปามีอำนาจในการศาสนาเท่านั้น ไม่มีส่วนในการปกครอง การทำงานแยกกันอย่างเด็ดขาด ตามทฤษฎี “ดาบสองเล่ม” (ศาสนจักร และอาณาจักร)

-นักการปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี (ตามนิยามของศาสนา)​​​ ไม่จำเป็นต้องรักษาคำพูด ทุกอย่างอยู่ที่ผลประโยชน์ แต่ต้องแสดงตนอย่างอำพรางว่า เป็นผู้มีคุณธรรม กล้าหาญ สง่างาม ให้ภาพลักษณ์ตนเองดูดีเสมอ  ใต้หลักการ “การมีชีวิตอยู่อย่างไร สำคัญกว่าที่ควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร” นั่นคือ สิ่งที่เห็นและเป็นจริงของเจ้าผู้ปกครองนั้นต่างกัน

-ผู้ปกครองต้องฉับไวเรื่องที่ได้มาและรักษาอำนาจ รู้จักฉกฉวยโอกาสที่เอื้อผลประโยชน์ คือเป็นผู้ที่ไม่รอคอย “ฟ้าลิขิต” เพราะโชคชะตาเป็นเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือเจ้าผู้ปกครองต้องลิขิตเอง

-เจ้าผู้ปกครองใหม่ต้องฆ่าเจ้าเก่าให้หมดสิ้นก่อนเสมอ ให้เหลือแต่พวกตนไว้ ภายใต้ข้ออ้างว่า ทุกอย่างเพื่อรัฐต้องสูงสุดก่อนปัจเจกบุคคล

-อันตรายจากการประจบสอพลอคือสิ่งพึงหลีกเลี่ยงให้ไกลสุด เจ้าผู้ปกครองที่อยากรักษาอำนาจ ต้องฉลาดที่จะเลือกที่ปรึกษาและฉลาดที่จะถาม เพื่อพิจารณาตัดสินใจเอง

-การใช้อำนาจเป็นสิ่งที่เด็ดขาดและได้ผลมากที่สุด การใช้อำนาจย่อมทำให้เกิดความกลัวเพื่อบรรลุผลในการปกครอง แต่ต้องไม่ใช้พร่ำเพรื่อและมีผลต่อภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมา

-คำว่าคุณธรรม ศีลธรรม และความโอบอ้อมอารีของนักปกครอง จะต้องมีนัยว่า เจ้าผู้ปกครองสามารถทำอะไรก็ได้ไม่ผิด ซึ่งมีความหมายต่างจากความหมายของศีลธรรมโดยทั่วไป

มาคิอาเวลลีจัดรูปแบบการปกครองตามแบบของอริสโตเติล เพียงแต่นำมาดัดแปลง รูปแบบการปกครอง มี 3 รูปแบบ คือ  กษัตริยาธิปไตย  อภิชนาธิปไตย ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญโดยชอบธรรม

มาคิอาเวลลี ก็คิดเห็นเหมือนโพลิบิอุส กับซิเซโร (เป็นนักปรัชญาสมัยโรมันที่เชื่อในปรัชญาของอริสโตเติลที่ยอมรับการผสมผสานกันของรูปแบบการปกครองแล้วจะได้รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด) แม้มาคิอาเวลลี จะยอมรับความคิดของอริสโตเติล ซึ่งเป็นศิษย์ของเพลโตแต่เขาไม่ยอมรับความคิดส่วนที่เป็นอุดมคติความดีงาม เรื่องที่เป็นนามธรรม ความสูงส่งทางจิตใจ เขามองแต่ส่วนที่นำมาปฏิบัติทางรูปธรรมที่เห็นผลเท่านั้น

บทที่น่าทึ่งและต้องอ่านให้ได้ในหนังสือนี้คือบทที่ 8 และ 9

บทที่ 8 ว่าด้วย ผู้ซึ่งได้เป็นผู้ปกครองโดยการกระทำที่ชั่วช้า โดยมีเนื้อหาว่า การก้าวสู่ตำแหน่งผู้ปกครองมี 2 วิธี แบบแรกคือการสืบทอดตามกติกา แบบหลังด้วยการกระทำที่ชั่วช้า เช่นการยึดอำนาจหรือขบถ ทำให้สามัญชนชั้นต่ำสุดแต่มีอาวุธ จากทหารชั้นผู้น้อย ที่กล้าเสี่ยง ฆ่าเพื่อนร่วมชาติ ทรยศมิตรสหาย ปราศจากความเชื่อถือ ไม่มีความสงสาร เจ้าเล่ห์ ไม่มีศาสนาในจิตใจ เขาได้อำนาจ แต่ด้วยความโหดร้ายกักขฬะไร้มนุษยธรรม ถือคติว่า ความโหดร้ายรุนแรงนั้นควรจะทำในครั้งเดียวให้หมด ส่วนความดีนั้นควรค่อย ๆ ทำ เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น ตามลำดับ การใช้ความโหดร้ายอย่างดี คือใช้มันเพียงครั้งเดียว ถ้าเราใช้มันอย่างเลวก็คือใช้มันบ่อย ๆ

บทนี้ มาคิอาเวลลี ไม่ได้มองเรื่องความดี, เลว กับความหมายของจริยธรรม คุณธรรมแต่มองที่ความเหมาะสม เพื่อยื่นข้อเสนอให้เจ้าเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์  เขาพยายามชักจูงให้ความชั่วร้ายที่ผิดมนุษย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นสิ่งธรรมดาเพื่อการได้มา

ส่วนบทที่ 9 ว่าด้วยรัฐแห่งประชาชน (Civic principalities) การขึ้นมาเป็นผู้ปกครองโดยการช่วยเหลือจากประชาชน หรือคนชั้นสูงในสังคม มีความต่างกันที่ ประชาชนไม่ต้องการถูกกดขี่โดยคนชั้นสูงขณะที่คนชั้นสูงต้องการกดขี่ประชาชนจึงนำไปสู่ดังนี้ 1. รัฐอาณาจักร (Principality)  2. รัฐเสรี หรืออิสระภาพ (Free  City) 3. รัฐอนาธิปไตย หรือรัฐที่ปราศจากกฎหมาย (Anarchy)

โดยที่กลุ่มชนชั้นสูงและประชาชนต่างก็พยามสร้างเกียรติคุณให้แก่คนใดคนหนึ่งของพวกตนและตั้งบุคคลนั้นให้เป็นผู้ปกครอง แต่เนื่องจากประชาชนเป็นรากเหง้าของอาณาจักร ซึ่งมีมากกว่า ย่อมมีกำลังมากกว่า มีความซื่อตรงจริงใจมากกว่าชนชั้นสูง ที่สำคัญผู้นำชนชั้นสูงเป็นอันตรายมาก และรักษาไว้ได้ยาก

เจ้าผู้ฉลาดย่อมต้องการให้ประชาชนพึ่งในรัฐ และตัวผู้ปกครองทุกสถานการณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ราษฎรก็จะซื่อสัตย์ต่อเจ้าผู้ปกครองเสมอ

เนื้อหาในหนังสือของมาคิอาเวลลีนี้ อาจจะมีบางส่วนพ้นยุคสมัย บางส่วนรู้กันทั่วไป แต่ก็ถือว่า ในยามที่การเมืองหลังเลือกตั้งรอบนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก แถมกติกาการเลือกตั้งที่พิลึกพิลั่น มีจำนวนบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ และมีเจตนานับคะแนนช้ามาก จนกระทั่งล่าสุด สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ต้องเรียกร้องให้เปิดเผยผลการเลือกตั้ง และตรวจสอบความผิดปกติอย่างเสรีและโปร่งใส

ลืมหนังสือของ ดร.ไสว บุญมา ไปเถอะ อ่าน The Prince  …เท่และทันเหตุการณ์กว่าเยอะ

อ่านเอามันก็ได้ อ่านเอาสาระก็ดี

Back to top button