แนวร่วมทุนนิยม และดอกเบี้ยต่ำ

หากพิจารณาถึงเบื้องหลังของการที่หัวโจกผู้ดูแลชักใยเบื้องหลังกลไกการเงินของระบบทุนนิยมของโลกที่นำโดยธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ในการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้วส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพลิกกลับจากภาวะร่วงรุนแรงเป็นภาวะหมี เข้าสู่ภาวะกระทิงทันควันแล้ว ต้องบอกว่าเป็นปฏิบัติการของ “แนวร่วมทุนนิยมโลก”


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

หากพิจารณาถึงเบื้องหลังของการที่หัวโจกผู้ดูแลชักใยเบื้องหลังกลไกการเงินของระบบทุนนิยมของโลกที่นำโดยธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ในการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้วส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพลิกกลับจากภาวะร่วงรุนแรงเป็นภาวะหมี เข้าสู่ภาวะกระทิงทันควันแล้ว ต้องบอกว่าเป็นปฏิบัติการของ แนวร่วมทุนนิยมโลก

แนวร่วมนี้ ต้องมีคนชักใยอยู่เบื้องหลังแน่นอน เป้าหมายคือไม่ใช่ช่วยเหลือจีน แต่เพื่อปกป้องทุนนิยมโลกแล้วโดดแล้วเดี่ยวจีนโดยตรง

เหตุเกิดที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ แล้วทำให้ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 1,293.96 จุด รับความหวังแบงก์ชาติทั่วโลกจับมือ IMF, เวิลด์แบงก์รับมือโควิด-19 ถือเป็นการบวกวันเดียวที่ร้อนแรงสุดในประวัติศาสตร์ แล้วตามมาด้วยมาตรการของเฟด ในการลดดอกเบี้ยให้ต่ำติดพื้นอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นพลังของ มือที่มองเห็นตามแนวทางของ เคนเซียนอย่างแท้จริง

มือที่มองเห็นนี้ ต่างจากปรัชญาพื้นฐานของอาดัม สมิธว่าด้วย มือที่มองไม่เห็น ลิบลับ

เมื่อวันจันทร์ ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติทะยานขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2552 ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq พุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2561

แรงหนุนจากความหวังที่ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะผนึกกำลังร่วมกับองค์กรชั้นนำอย่าง IMF และธนาคารโลก ในการออกมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 คือประเด็นสรุป แต่มีรายละเอียด ระหว่างบรรทัด ให้ติดตามมากมาย

การที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดให้คำมั่นว่า เฟดจะใช้เครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อหนุนเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการแสดงความเห็นของนายพาวเวลล์ทำให้นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ซึ่งเกิดขึ้นตามมาจริง

ยิ่งกว่านั้นการที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันว่า BOJ จะใช้ความพยายามในทุกทางเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน ซึ่งรวมถึงการจัดหาสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะยังคงมีเสถียรภาพ

อีกทางหนึ่งในยุโรป ทางด้านนายหลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และ ECB พร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว

ทางด้าน  IMF และธนาคารโลก ได้ประกาศความพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งจะให้ความสนใจต่อประเทศยากจนที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอมากที่สุดและประชากรมีความเสี่ยงมากที่สุด โดย IMF และธนาคารโลกจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการให้เงินทุนฉุกเฉิน การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย และการช่วยเหลือทางเทคนิค

ที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีจีนและรัสเซียถูกดึงเข้าร่วมในการสมคบคิดเรื่องนี้เลย ทำให้มีคำถามตามมาว่า การผนึกกำลังของ “แนวร่วมทุนนิยมโลก” ล่าสุดที่ปฏิเสธพลังของชาติอื่นรวมทั้งจีน รัสเซียและสมาชิกนอก G-7 จะยั่งยืนเพียงใด

ที่สำคัญคือ ยังไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญได้เลยว่า เศรษฐกิจโลกในยุค เงินท่วมโลก และดอกเบี้ยต่ำ” ติดพื้นจะสามารถพบทางออกได้ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่

ดังที่ทราบกันดีว่า หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มาตรการพิมพ์ธนบัตรไม่อั้นของธนาคารกลางใหญ่อย่างเฟด BOJและ ECB ที่เรียกว่า QE ทำให้เกิดภาวะเงินล้นโลก กดดันดอกเบี้ยให้ต่ำติดพื้นเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน

ดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือ ดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืดตามมาจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงสำคัญคือ ผู้มีเงินออมได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำ ถูกบีบคั้นให้ต้องโอนย้ายทุนที่ออมไว้เข้าหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า เป็นที่มาของขาขึ้นตลาดหุ้นพุ่งทะยาน จนมีคำถามตามมาว่า เข้าสู่ช่วงเวลาของฟองสบู่เศรษฐกิจระลอกใหม่หรืออย่างไร

แม้นักวิเคราะห์หุ้นและนักการเงินจะพยายามออกมาแก้ต่างว่า สภาพตลาดทุนในปัจจุบันมีเครื่องมือและความแข็งแกร่งมากเพียงพอจะไม่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ของตลาดเหมือนในอดีต แต่คำพูดของคนที่มีผลประโยชน์ได้เสียกับขาขึ้นของตลาดโดยตรง ย่อมมีความน่าเชื่อถือต่ำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะไม่อาจการันตีได้เลยว่า วิกฤตราคาหุ้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

โดยข้อเท็จจริง การที่เฟด แสดงความลังเลใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะเป็นผลดีในระยะสั้น เพราะทำให้เซนติเมนต์ของตลาดยังคงเชื่อมั่นว่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อไปอีก  แต่คำปรามาสของผู้ช่ำชองความเสี่ยงทางการเงินเมื่อต้นเดือนธันวาคมอย่างกรณีของ BIS (ฉายาธนาคารกลางของธนาคารกลางทั่วโลก เจ้าของกฎว่าด้วย Basel Rules) ที่ระบุว่า ความพยายามที่ล้มเหลวของเฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ (และธนาคารกลางอังกฤษ) ที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กำลังก่อร่างเค้าโครงของฟองสบู่การเงินที่ไม่มั่นคงให้เติบโตอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายคำตอบอยู่

ค่าดอลลาร์ที่มีแนวโน้มผันผวนไร้ทิศทาง ด้านหนึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามดอกเบี้ยครั้งใหม่ ในยามที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายทั่วโลก และ อีกด้านหนึ่ง อาจจะโน้มนำไปสู่สงครามค่าเงินระลอกใหม่ได้

ความพยายามของแนวร่วมทุนนิยมล่าสุด อาจจะช่วยดันตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นชั่วคราว แต่หากมองถึงพื้นฐานแล้วมือที่มองเห็นน่าจะเป็นการแก้ปัญหาเพื่อสร้างปัญหาที่ยากแก้ไขยิ่งกว่าเดิม

อย่าเพิ่งด่วนดีใจเสมือนไก่ได้พลอย หรือ ลิงได้แก้ว

Back to top button